ชื่อ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง

สถานที่ตั้ง ๕๖ หมู่ ๑ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา

บริหารจัดการโดย นายสมาน โดซอมิ (ประธานศูนย์)

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ เดิมที เป็นที่เก็บของสะสมของนายสมาน โดซอมิ ที่ชอบของโบราณที่มีแล้วในบ้าน ที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ แต่ทางชุมได้มีความคิดที่จะตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน จึงได้คิดริเริ่มกับชุมชน จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ตั้งแต่นั้นมา ได้รวบรวมโบราณวัตถุที่มีอยู่ในชุมชน มารวมไว้ที่บ้านนายสมาน ชั่วคราว ยิ่งนับวันยิ่งมีของหลากหลาย โดยเฉพาะกริซรามันห์ขึ้นชื่อ และมีมากในละแวกนี้ เพราะเดิมที อำเภอรามันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย โดยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทางศูนย์จึงมีแนวคิดการแยกหมวดหมู่วัตถุที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๔ จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม เฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง โดยกระทรวงวัฒนธรรมและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพิ่มความละเอียดอ่อน ให้พิพิธภัณฑ์ ดังนี้

  • ประเภทของที่มีอยู่
    ๑. เครื่องศัตราวุธ
    ๒. เครื่องทองเหลือง
    ๓. เครื่องนุ่งห่ม
    ๔. เครื่องดนตรี
    ๕. เครื่องไม้แกะสลัก
    ๖. เครื่องสังคโลก
  • วัตถุประสงค์
    ๑. เพื่อสะดวกแก่ผู้สนใจเป็นเรื่องต่างๆ
    ๒. เพื่อดูแลวัตถุให้คงอยู่ต่อไป
    ๓. เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่ต่อไป

กริชรามันห์

กริชเป็นศาสตรวุธชนิดหนึ่งมีลักษณะปลายแหลม มีขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง ความยาวเฉลี่ยประมาณ 12-16 นิ้ว รูปตรงแต่ปลายเรียวแหลมเล็กก็มี ตรงกลางป่องก็มี เป็นรูปคดไปมาอย่างที่เรียกว่าคดกริชก็มี คดแต่ตอนปลายเพียงคดเดียวก็มี

ชาวมลายูถือว่านักรบผู้ใดถือกริชหลายคด ผู้นั้นนับเป็นนักรบผู้ยิ่งยง และมีอำนาจเหนือกองทัพ มีคมสองคมใช้สำหรับฟันด้ายก็มี มีด้ามขนาดสั้นพอเหมาะ แต่การจะกำไว้ในมือได้สะดวก ด้ามและฝักมักแกะสลักเป็นรูปและลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม บางด้ามประดับด้วยเงิน ทอง หรือทองแดง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะผู้เป็นเจ้าของเป็นประการสำคัญ

กริชของจังหวัดยะลามีชื่อและประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เมื่อประมาณ 200-300 ปีก่อน เจ้าเมืองรามันประสงค์จะให้มีกริช เป็นอาวุธคู่บ้านคู่มือง และต้องการมีกริชประจำตัวด้วย จึงเชิญช่างผู้ชำนาญการมาจากประเทศอินโดนีเซีย มาทำกริชที่เมืองรามันในรูปแบบปัตตานี และรูปแบบรามัน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะจนเรียกขานในท้องถิ่นว่า “กริชแบบปาแนซาระห์

กริชที่เมืองรามันนิยมทำเป็นหัวนกพังกะ นกพังกะเป็นนกที่มีปีกและตัวสีเขียว ปากยาวสีแดงอมเหลือง คอขาวบ้าง แดงบ้าง นอกจากนี้ ยังทำเป็นหัวรูปไก่ หัวงูจงอาง และรูปคน ส่วนใหญ่สลักด้วยไม้ หรือกระดูกปลา กริชมีหลายรูปแบบ เช่น กริชแบบกลุ่มบาหลีและมดูรา กริชแบบชวา กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ กริชแบบบูฆิส กริชแบบสุมาตรา กริชแบบปัตตานี กริชแบบซุนดาหรือซุนดัง และกริชแบบสกุลช่างสงขลา (ข้อมูลจาก ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเม็ง จ.ยะลา)