ชื่อ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สงขลา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

สถานที่ตั้ง ภายในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่  ถ.กาญจนวนิช ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

บริหารจัดการโดย กรมศิลปากร (ก่อตั้ง ๑๘ กันยายน ๒๕๓๖)

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • เป็นแหล่งรวบรวมเก็บรักษาเอกสารสำคัญของท้องถิ่น เอกสารส่วนราชการ เหตุการณ์ ประวัติบุคคลสำคัญของท้องถิ่นในส่วนภูมิภาค เก็บไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของชาติ
  • เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนา รวมทั้งให้บริการข้อมูลและสารสนเทศจดหมายเหตุในส่วนภูมิภาค
  • เพื่อให้องค์กรในท้องถิ่น และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม ดูแล เก็บรักษา และอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ในท้องถิ่นตลอดไป
  • มีหน้าที่ติดตาม รวบรวม แสวงหา สร้างเครือข่าย อนุรักษ์จัดเก็บ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ เอกสารประวัติศาสตร์และเอกสารจดหมายเหตุ
    ***มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ ๖ จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล

เอกสารจดหมายเหตุ คือ เอกสารที่สิ้นกระแสการปฏิบัติงานที่ส่วนราชการ สถาบัน องค์กรเอกชน ส่วนบุคคลผลิตขึ้น หรือรับไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงาน และผ่านการประเมินคุณค่า แล้วว่า เป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติในการศึกษาค้นคว้าวิจัยเอกสารจดหมายเหตุจึงเป็นข้อมูลชั้นต้นที่สำคัญ และเชื่อถือได้มากที่สุด เอกสารจดหมายเหตุ แบ่งเป็น ๔ ประเภท

๑. เอกสารจดหมายเหตุประเภทลายลักษณ์ (Textual Archives) คือเอกสารที่สื่อความหมาย เนื้อหาด้วยลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นด้วยการเขียนหรือพิมพ์ ได้แก่ ใบบอก สารตรา คำสั่ง หนังสือโต้ตอบ บันทึกข้อความ ประกาศ สถิติ พระราชบัญญัติ รายงานการประชุม สิ่งพิมพ์รัฐบาล เป็นต้น
๒. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ (Audio-Visual Archives) เอกสารที่สื่อความหมายด้วยภาพและเสียง ได้แก่ ภาพถ่าย ฟิล์มเนกาตีฟ สไลด์ แถบบันทึกเสียง วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ โปสเตอร์ บัตรอวยพร เป็นต้น
๓. เอกสารจดหมายเหตุประเภทแผนที่ แผนผัง (Cartographic Archives) ได้แก่ แผนที่ แผนผัง แบบแปลน พิมพ์เขียว ฯลฯ
๔. เอกสารจดหมายเหตุประเภทวัสดุคอมพิวเตอร์ (Machine-Readable Archives) เป็นเอกสารที่บันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลที่บันทึกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ดิสเก็ตต์ ซีดี วีซีดี ดีวีดี ฯลฯ