ชื่อ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี

สถานที่ตั้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ๙๐๑๑๒

บริหารจัดการโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี เป็นรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานที่ให้ความรู้และดำเนินการวิจัยด้านธรรมชาติศึกษาและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของสิ่งมีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม อันเป็นจุดก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการ การปรับตัว ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งอุปนิสัยและถิ่นที่อยู่ พิพิธภัณฑ์ฯ มีจุดเริ่มต้นจากการรวบรวมและจัดเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในการเรียนภาคสนามของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนอกจากจะใช้ประกอบการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว บางส่วนยังใช้จัดนิทรรศการเพื่อให้ผู้สนใจเข้าชมอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไปมีตัวอย่างสิ่งมีชีวิตมากขึ้นจึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของภาควิชาขึ้นมา

ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ คณะวิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ จึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้ และเป็นแหล่งวิจัยด้านธรรมชาติศึกษาแก่นักวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากผลงานวิจัยของบุคลากรของคณะฯ ซึ่งได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกจำนวนมาก ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จัดเก็บตัวอย่างต้นแบบไว้ที่พิพิธภัณฑ์อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ฯเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น ต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กราบบังคมทูลให้พิพิธภัณฑ์ฯได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทั้งขอพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์

และในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ทางพิพิธภัณฑ์ฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานนาม ตั้งชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี” และนับแต่นั้นมาพิพิธภัณฑ์ก็ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯตราบจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเพื่องานวิจัยสำหรับนักวิจัยทั่วโลก และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นภาคใต้ได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติวิทยาของคาบสมุทรไทย ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป