“กูย” เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง อาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของกัมพูชา ตอนใต้ของลาว และทางภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวกูยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด คำว่ากูย คือ กูย กวย หรือโกย ซึ่งแตกต่างออกไปตามชื่อเรียกที่ละถิ่นนั้นมีความหมายว่า “คน” เหมือนกัน (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538: 2-3) ในที่นี้จะขอนำเสนอชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กูยตามชื่อต่าง ๆ ที่นักวิชาการได้ใช้ตามเอกสารต้นฉบับ
ชาวกูยเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตามเขาพนมดงรัก ทั้งในพื้นที่อีสานใต้ของภาคอีสาน กัมพูชาตอนเหนือและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กูยมีการทอผ้าใช้เอง มีความเชื่อพิธีกรรม เซ่นสรวง สัญลักษณ์มีศาลยะจู๊อยู่กลางหมู่บ้าน มีภูมิปัญญาหลายด้าน รักความสามัคคี (Levy, 1949: 94-95)
ชาวเขมรเรียกกวยว่า “กูย” ซึ่งตรงกับเสียงที่ชาวกวยบางกลุ่มเรียกตัวเอง ส่วนคำว่า กูย หรือโกยนั้นโดยทั่วไป ไม่มีกวยส่วนไหนออกเสียงเช่นนั้น เพราะไม่มีความหมายในภาษาของเขา ชาวตะวันตกเรียกว่า Kui หรือ Soai ตามชื่อที่พบในเอกสารหรือตามประสบการณ์ที่ได้เข้าไปศึกษาในกลุ่มชาติพันธุ์กวยตามดินแดนต่าง ๆ ในเขมร ลาว และภาคอีสานของไทย ต่อมาเมื่อรัฐบาลสยาม (ไทย) ได้ขยายอำนาจการปกครองตลอดภาคอีสานตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา ดินแดนที่เป็นจังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษได้ถูกเรียกว่า หัวเมืองเขมรป่าดง เพราะเป็นดินแดนที่อยู่ชายขอบ (Periphery) ของอาณาจักรไทยในสมัยนั้น สภาพทั่ว ๆ ไป เต็มไปด้วยป่าทึบ ชายฉกรรจ์แถบนี้ต้องเก็บของป่า เช่น ผลเร่ว น้ำผึ้ง ชัน นอแรด ฯลฯ เป็นส่วยส่งราชสำนักกรุงเทพฯ ประชาชนในแถบนี้จึงถูกเรียก “ส่วย” และเนื่องจากพวกกวยเป็นกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “ส่วย” เรื่อยมา ความหมายอีกอย่างหนึ่งของคำว่า “ส่วย” ตามความรู้สึกของคนกลุ่มอื่น คือไม่เจริญหรือมีลักษณะต่าง ๆ ที่ด้อยกว่าชนกลุ่มอื่น ๆ ในแง่ความรู้สึกทางวัฒนธรรม ส่วยจึงหมายถึง พวกที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่าเพื่อนบ้าน คือ เขมร และลาว (ไพฑูรย์ มีกุศล, 2531: 9)
การเรียกว่าส่วยนั้นเพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ไพร่ส่วยในบริเวณเขมรป่าดงนี้ มักเรียกกันว่าข่าส่วยหรือข่าไพร่ และส่วยสำคัญคือทองคำ ในระยะแรก ๆ ก็ได้ผลดี จนในปลายรัชกาลที่ 3 ได้เรียกเก็บส่วยทองคำจากเมือง อัตตะปือเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นปีละ 8 ชั่ง แต่ตกถึงปลายรัชกาลที่ 4 ข่าส่วยไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวคนส่วยมาส่งแทนของ ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 แขวงจำปาศักดิ์ สารวันอัตตะปือตกไปเป็นของฝรั่งเศส จึงเหลือแต่บริเวณเขมรป่าดงในประเทศไทย ในที่สุดไพร่ส่วยหรือส่วย จึงตกค้างกลายเป็นชื่อเรียกชนชาติในป่าเขาบริเวณนี้ขึ้นแทนคำว่าเขมรป่าดงแต่เดิม โดยเฉพาะในเขตใต้น้ำมูลนี้ ชนชาติที่มีจำนวนมากที่สุดที่ต้องส่งส่วยสิ่งของนั้น คือชนชาติในตระกูลภาษามอญ-เขมร คำว่าส่วยจึงกลายมาเป็นชื่อชนชาติพวกนี้ในภาษาไทยติดมาจนบัดนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524: 437-445)
“ส่วย” เป็นคำบัญญัติขึ้นมาโดยคนนอกวัฒนธรรมกูยจากคำว่า “ไพร่ส่วย” จนภายหลังกลายเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์แทน คนไทยยังเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า “เขมรป่าดง” หรือ “เขมรส่วย” ด้วย ตามที่ปรากฎในพงศาวดารซึ่งเรียกหัวเมืองที่มีชนชาวกูย อยู่ว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” ที่เรียกเช่นนี้ก็อาจมาจากความแตกต่างด้านภาษาและทัศนคติของคนไทยที่เห็นว่าเป็นกลุ่มชนป่าเถื่อน ด้อยวัฒนธรรม (ธวัช ปุณโณทก, 2527, อ้างถึงใน พรรณวดี ศรีขาว, 2554: 16)
ถึงแม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้จะมีชื่อเรียกว่า ส่วย กูย กวย หรือ โกย ทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน คำว่า “กูย” มีความหมายแปลว่า คนกลุ่มนี้มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มีภาษาพูดที่ออกสำเนียงคล้ายภาษาเขมร แต่ไม่มีภาษาเขียนหรือไม่มีตัวอักษร พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีระเบียบวินัย เคารพและเคร่งครัดในศีลธรรมสูง มีความเคารพเชื่อฟังต่อผู้ทำเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจและพิธีกรรมต่าง ๆ อันมีความผูกพันกับชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น ความเชื่อเรื่องผีปะกำ เครื่องรางของขลัง (พนัส ดอกบัว, 2553)
เนื้อหาโดย ชานนท์ ไชยทองดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ปีงบประมาณ 2562 , วันที่อัพโหลด; 27 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
กลุ่มชาติพันธุ์กูย บ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ของอำเภออุทุมพรพิสัย มาอย่างยาวนาน จากการบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชนทำให้ทราบประวัติการอพยพและเรื่องราวของการเดินทาง ตำนาน พิธีกรรมความเชื่อรวมถึง การตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือน ตลอดจนการประกอบอาชีพ ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กูยดำรงการดำเนินชีวิต สืบสานประเพณี พิธีกรรมความเชื่อตนเอง จนสามารถเผยแพร่ความเป็นชาติพันธุ์กูยให้สังคมได้รับรู้เรื่องราววิถีชีวิตของตนเอง เช่น ประเพณีปลาช่อนรสดี ข้าวจี่ยักษ์รสเด็ด ในช่วงเดือนสาม เป็นต้น ขณะเดียวกันการนำความรู้เรื่องภูมิปัญญาของตนเองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะภูมิปัญญาเรื่องการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว นำมาย้อมมะเกลือตัดเป็นเสื้อแส่ว ที่ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะและความพิถีพิถันในการออกแบบเพื่อสื่อสารในเชิงอัตลักษณ์ของตนเอง โดยจะเห็นได้จากหลายหน่วยงาน องค์กรที่เข้าไปศึกษาดูงานและทำการวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้าน และที่สำคัญมีการสร้างเครือข่ายในชุมชนไปสู่ตำบลของตนเองเกี่ยวกับการทอผ้าไหมในรูปแบบของสินค้าโอท็อปจนกลายเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้และท่องเที่ยวในตำบลทุ่งไชย ในด้านประเพณีและพิธีกรรม ตำนานความเชื่อที่สั่งสมมากจากบรรพบุรุษชาวชุมชนทุ่งไชยสามารถบูรณาการประเพณีและพิธีกรรม ตำนานความเชื่อในเชิงท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เช่น การนำความเชื่อ ตำนานเรื่องพญานาคในชุมชนมาสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในวัดทุ่งไชยจนได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์กูยบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถปรับตัวและประยุกต์ใช้สิ่งที่มีค่าในชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน
ชาวกูยเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนกัมพูชาในอดีต เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว โดยมีหลักฐานระบุเอาไว้ว่า ชาวกูยเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษามุณฑ์ (MUNDA) ซึ่งอยู่แคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบลุ่มน้ำแม่โขง เมื่อครั้งถูกพวกอารยันรุกรานและต่อมาได้เป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรหรือแขมร์ บางกลุ่มได้อาศัยอยู่ตามดินแดนบริเวณทะเลสาบใหญ่ของกัมพูชาจนกระทั่งกลายเป็นปึกแผ่น มีอาณาเขตการปกครองตนเองอย่างมั่นคงตลอดมา (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2556)
ประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของกลุ่มชาติพันธุ์กูยหรือกวยทำให้ทราบพื้นที่ที่อพยพและตั้งถิ่นฐานหลายแห่งผ่านชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กูยหรือกวยถือว่าเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่นี้ การอพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคอีสานของประเทศไทยแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานว่า "กูยหรือกวยมาเมื่อใด มาจากไหน เพราะเหตุไรจึงอพยพมา และมาจำนวนเท่าไร” ก็ตาม แต่กลุ่มชาติพันธุ์กูยหรือกวยถือว่ามีบทบาทในพื้นที่อีสานตอนใต้และอาศัยอยู่มาเป็นเวลานาน กลายเป็นชุมชนกูยหรือกวย และที่หนาแน่นที่สุดก็คือ พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ (บัญญัติ สาลี, 2560)
จากข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดศรีสะเกษที่คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544) พบว่าเป็นดินแดนของชาวกูยหรือส่วย คนทั่วไปเรียกชาวศรีสะเกษว่า "ส่วยศรีสะเกษ" ศรีสะเกษเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ พื้นที่บริเวณจังหวัดศรีสะเกษเคยเป็นดินแดนแห่งหนึ่งของขอมที่ใช้เป็นเส้นทางเดินทาง (ธนาภา ศกุนะสิงห์ และจักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง, 2558)
ปัจจุบันถึงแม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้จะมีชื่อเรียกว่า ส่วย กูย กวย หรือ โกย ทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน คำว่า "กูย" มีความหมายแปลว่า คนกลุ่มนี้มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มีภาษาพูดที่ออกสำเนียงคล้ายภาษาเขมร แต่ไม่มีภาษาเขียนหรือไม่มีตัวอักษร พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีระเบียบวินัย เคารพและเคร่งครัดในศีลธรรมสูง มีความเคารพเชื่อฟังต่อผู้ทำเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจและพิธีกรรมต่าง ๆ อันมีความผูกพันกับชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น ความเชื่อเรื่องผีปะกำ เครื่องรางของขลัง (พนัส ดอกบัว, 2553)
บ้านทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยระหว่างเส้นรุ้งที่ (Latitude) ที่ 14 – 15 องศาเหนือและเส้นแวง (Longitude) ที่ 104 – 105 องศาตะวันออก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 11.53 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 11,525 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟประมาณ 515 กิโลเมตรและทางรถยนต์ประมาณ 600 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ประมาณ 100 กิโลเมตรมีอาณาเขตติดกับตำบลใกล้เคียงดังนี้ทิศเหนือติดกับตำบลก้านเหลืองและตำบลหนองห้าง ทิศใต้ติดกับตำบลโคกจาน ทิศตะวันออกติดกับตำบลบุสูงและตำบลธาตุ ทิศตะวันตกติดกับตำบลเมืองหลวง
การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัวประชากรของชาวกูยบ้านทุ่งไชย เปี่ยม คงศรี (2561: สัมภาษณ์) ให้ข้อมูลว่า "ในอดีตชาวบ้านบ้านทุ่งไชยหมู่ 1,2,3,8,9 ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชาวพื้นเมืองกูยตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ต่อมามีชาวลาวกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์มาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่บ้านหนองเวียง (หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งไชย) คำว่า "เวียง" มาจากเวียงจันทน์" ส่วนสุข ถาวร (2561: สัมภาษณ์) เล่าว่า "บ้านทุ่งไชยหมู่ 1,2,3,8,9 ตำบลทุ่งไชยเคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามานาน อาจเป็นเพราะโรคไข้ป่า โรคฝีห่า ภัยแล้งหรือเป็นปัญหาโจรผู้ร้าย ในปี พ.ศ. 2256 มีผู้อพยพมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 5 ครอบครัวมาพบเห็นว่ามีทำเลเหมาะสมมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์จึงมีความต้องการตั้งถิ่นฐาน แต่ไม่สามารถเข้าอยู่บริเวณแห่งนี้ได้ เนื่องจากเชื่อว่าผีเจ้าที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาอยู่อาศัย จึงพากันไปพักอยู่บริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านหนองเวียงในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่เหมาะสมมีเนินดินสูง มีคูดินคูน้ำล้อมรอบมีทางเข้าออกสี่ทาง มีการเชิญนายถาวรที่อยู่บ้านโคกทมซึ่งเป็นชาวกูยที่มีความสามารถด้านการปราบผีมาปัดรังควาน โดยมีชาวกูยได้ติดตามนายถาวรมาเพื่อหาที่ทำมาหากินแห่งใหม่รวม 6 ครอบครัว เมื่อปัดรังควานเสร็จแล้วครอบครัวชาวกูยที่มาพร้อมกับนายถาวรได้สร้างที่อยู่อาศัยอยู่ด้านทิศใต้ (คือบ้านทุ่งไชยหมู่ที่ 3 ในปัจจุบัน) จากนั้นให้ชาวลาวอพยพอยู่ทางด้านเหนือ (คือบ้านหนองวียง หมู่ที่ 9 ในปัจจุบัน) รวมเป็น 11 ครอบครัว มีนายถาวรเป็นหัวหน้าหมู่บ้านในสมัยนั้นเรียกว่า "กวนบ้าน"
ไซเดนฟาเดน (Seidenfaden, 1952) ได้กล่าวถึงการอพยพของชาวกูยจากตอนเหนือมาทางตะวันออก เข้าเขตพม่าและไทยเมื่อราว 1,200 ปี ก่อนคริสตการหรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวชาวกูยได้เคลื่อนย้ายกระจายอยู่ในแถบตอนเหนือของเขมร ตอนใต้ของลาวและทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และหลักฐานการบันทึกของข้าหลวงและข้าราชการ จากส่วนกลางมาปกครองดูแลอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5
รูปแบบการตั้งถิ่นฐานและรูปการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์กูยบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มีการเล่าต่อกันมาว่าการตั้งถิ่นฐานในสมัยก่อนชาวบ้านเดินทางมาจากเวียงจันทน์ พอเดินทางมาถึงห้วยสำราญในอำเภออุทุมพรแต่ไม่สามารถตั้งถิ่นฐานได้เพราะผีป่าเจ้าที่ค่อนข้างดุร้าย จึงเดินทางอพยพมาจนถึงหนองเวียงแต่ไม่สามารถตั้งถิ่นฐานที่พักอาศัยได้ ต่อมาได้เดินทางไปพบกับชาวบ้านที่เป็นชาวกูยพื้นเมืองชื่อว่า นายถาวรซึ่งเป็นผู้ที่มีวิชาในการปราบผีมาปัดรังควานเมื่อปราบผีปัดรังควานเสร็จแล้วหลังจากนั้นนายถาวรจึงเป็นผู้นำในการสร้างหมู่บ้าน โดยให้ชาวกูยที่อพยพมาพร้อมกับตนสร้างที่อยู่อาศัยอยู่บนเนิน ให้ชาวลาวที่อพยพมาย้ายไปสร้างที่อยู่อาศัยที่ริมหนองน้ำ จึงสามารถตั้งหมู่บ้านได้ บริเวณที่มีการตั้งหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านเล่าว่าเป็นดินแดนที่ขอมเคยมาอาศัยอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2256 มีการตั้งผู้นำหมู่บ้านขึ้น และแบ่งเขตการปกครองออกเป็นหมู่บ้านจนทำให้ปัจจุบัน บ้านทุ่งไชยแบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้าน
ชื่อหมู่บ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เชื่อกันว่ามีที่มาจากการสู้รบกันในบริเวณนี้ เมื่อได้รับชัยชนะจึงใช้ชื่อว่า "ทุ่งธงชัย" จึงได้เพี้ยนมาเป็นทุ่งไชยในปัจจุบัน สภาพเดิมเป็นหมู่บ้านอยู่ในที่ลุ่มและขุดสระน้ำล้อมรอบ มีวัดเก่าแก่ คือวัดทุ่งไชย และมีพระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง อายุประมาณ 200 ปี จึงสันนิษฐานว่า คนที่อพยพมาอยู่จะเป็นชนเผ่าเขมรและส่วย มาตั้งรกรากที่บริเวณทุ่งไชย มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในรัชกาลที่ 1-2 เจ้านครจำปาศักดิ์กระด้างกระเดื่อง (แข็งข้อ) ต่อเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) จึงส่งกองทัพมาปราบ และพักทัพอยู่ที่บริเวณที่ตั้งของบ้านทุ่งไชยปัจจุบัน จัดทำสนามเพลาะรอบหมู่บ้าน กองทัพเมืองหลวงต่อสู้กับกองทัพนครจำปาศักดิ์ครั้งใหญ่ที่บริเวณทุ่ง และได้ชัยชนะตีข้าศึกแตกพ่ายกลับไป ต่อมาจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านธงชัยและกลายเป็นบ้านทุ่งไชยจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มี "ชาวมอญเชื้อสายพม่า" สองพี่น้องมาค้าขายที่เมืองไทยอาศัยอยู่ที่เมืองสระกำแพงใหญ่การค้าขายร่ำรวยมีโภคทรัพย์สมบัติมากมายคิดอยากมีอำนาจจึงขอเฝ้าทูลเกล้าขอพระราชทานต่อเจ้าเมืองสระกำแพงใหญ่ เจ้าเมืองสระกำแพงใหญ่ทรงอนุญาต โดยผู้เป็นพี่ไปตั้งแขวงของตนเองอยู่ที่บ้านเมืองหลวง ส่วนผู้เป็นน้องไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองน้อย ต่อมาการค้าขายสองพี่น้องไม่ราบรื่นเท่าใดนักเพราะถูกกีดกันจากแขวงอื่น ๆ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นแห้งแล้งติดต่อกันมาหลายปีทำให้การปกครองเป็นไปด้วยความยากลำบากเป็นสาเหตุให้ผู้น้องชายคือเจ้าแขวงเมืองน้อย เกิดความกระหายอยากขยายอำนาจเพิ่มขอบเขตแผ่อิทธิพลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงพาสมัครพรรคพวกไปขอแบ่งปันเขตแดนกับเจ้าแขวงปรางค์กู่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงย้อนกลับมาขอแบ่งปันกับพี่ชาย ผู้เป็นพี่ชายไม่ยอมจึงเกิดมีปากเสียงกันผู้เป็นน้องชายโกรธมากจึงประกาศทำสงครามกับผู้เป็นพี่ โดยนัดหมายให้ใช้บริเวณที่ตนเองต้องการเป็นที่ทำสงครามการต่อสู้แย่งชิงดินแดนระหว่างสองพี่น้องในครั้งนี้ฝ่ายพี่ชายเป็นผู้ชนะ ความทราบถึงเจ้าเมืองสระกำแพงใหญ่จึงเรียกเจ้าแขวงเมืองทั้งสองเข้าเฝ้าแล้วมีบัญชาให้ทั้งสองอยู่ในความสงบมิฉะนั้นจะเนรเทศออกจากสยาม พร้อมมอบหมายให้ราชเลขาออกรังวัดปักเขตเพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้ามาแย่งชิงเอาพื้นที่นี้อีก พร้อมปักธงขนาดใหญ่ไว้บริเวณทุ่งและกลางหมู่บ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านธงชัย” และเรียกชื่อทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งธงชัย”
ชุมชนบ้านทุ่งไชยจึงเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และปัจจุบันเป็นชุมชนทางโบราณคดีของจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากมีเรื่องราวตำนาน ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งแผนผังชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบถึง 3 ชั้น รวมถึงวัตถุโบราณที่พบในชุมชน เช่น พระพุทธรูปเก่าแก่ สิมศิลาแลง (ปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังปัจจุบันทับเอาไว้) ที่ชาวบ้านยังมีการถ่ายทอดความทรงจำ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยมุขปาฐะ ที่ล้วนแล้วแสดงถึงเรื่องราวของชาวกูยในอดีต เป็นต้น
วิถีชีวิต รูปแบบการดำรงชีพ - อาชีพ
ชาวกูยบ้านทุ่งไชย เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการพึ่งตนเองสูงผูกพันกับธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่า หนองน้ำ ที่นา ที่สวน รวมถึงทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครอบครัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่สามารถดำรงควบคู่และสอดคล้องไปกับระบบธรรมชาติ ขณะที่อาชีพของชาวกูยในชุมชนบ้านทุ่งไชยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาโดยอาศัยน้ำฝน ข้าวที่นำมาปลูกเป็นข้าวสายพันธุ์หอมมะลิ 105 ชาวบ้านจะทำการหว่านกล้าประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ในอดีตชาวบ้านจะไถโดยใช้แรงงานกระบือและโค ปัจจุบันหันมาใช้เครื่องจักรแทนเพราะทำให้ประหยัดเวลาและสามารถไถหว่านได้อย่างรวดเร็ว
ในช่วงหลังจากการหว่านข้าวเสร็จแล้วจะเป็นช่วงที่ชาวบ้านหาปลา หากบ มาเป็นอาหาร ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนสิบ จะเก็บเกี่ยวข้าวดอ (ข้าวเบา) บางปีมีน้ำท่วมจะมีปลาหมอมากินข้าวชาวนาจึงต้องรีบเกี่ยวข้าวขึ้นไว้ที่สูงให้ทันเพื่อจะได้ทำบุญออกพรรษา ชาวบ้านจะนวดข้าวหรือตีข้าวเสร็จประมาณเดือนสามข้างขึ้นแล้วเอาบุญเดือนสามพอดี ในเดือนสามจะมีทั้งงานประเพณีเดือนสาม และบุญแจกข้าว แนวโน้มการทำเกษตรด้วยเครื่องจักรมากขึ้น สังเกตได้จากที่ชาวบ้านที่มีทุนมากจะเข้าไปหาซื้อรถไถนั่งขับมาใช้ในการเกษตรของตนเอง อีกทั้งบางคนนำรถไถของตนเองไปรับงาน เช่น งานปรับที่นา ปั่นดินในการหว่านข้าว เป็นต้น เพราะฉะนั้นอาชีพของชาวบ้านยังคงอาศัยพื้นที่ไร่นาสวนของตนเองในการทำมาหากิน
นอกจากการทำนาแล้ว ชาวบ้านทุ่งไชยยังประกอบอาชีพเสริม คืออาชีพเสริมปลูกผลไม้บางชนิดเช่น ต้นแก้วมังกรเพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้กับครอบครัว ชาวบ้านจะปลูกแต่แต่หัวปี พอถึงช่วงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่เก็บผลแก้วมังกรเพื่อนำไปขาย
คนหนุ่มสาวบางครอบครัวมีโอกาสได้เล่าเรียนจนได้เข้ารับราชการในองค์กรต่าง ๆ บางคนประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น ค้าขาย โดยเฉพาะคนในชุมชนสามารถสร้างเศรษฐกิจในด้านการค้าขายในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน เพราะมีการนำพืชผลทางการเกษตรมาขายในตลาดชุมชนอีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนด้วย
นอกจากอาชีพในด้านเกษตรและค้าขายแล้วแล้ว ชาวบ้านในชุมชนหันมาทำอาชีพด้านหัตถกรรมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่อาศัยความสามารถและความเข้าใจจากการสั่งสมภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษของตนเองเกี่ยวกับทอผ้าไหม หลังจากนั้นทำเป็นสินค้าโอท็อปขายในชุมชนและตำบลทุ่งไชย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมและมีผู้คนเดินทางไปศึกษาดูงานและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดศรีสะเกษ
ชาวบ้านในชุมชนตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ทอผ้าไหมตามแบบของชาวกูยคือผ้าลายลูกแก้ว ทั้งผ้าซิ่นและเสื้อคอกระเช้าสีดำ ซึ่งเสื้อสีดำ (เสื้อแส่ว) ใส่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เช่น ผู้ชายใส่เสื้อผ้าเก๊บสีดำ คอตั้งตรง แขนยาว โสร่งทำด้วยผ้าไหมทำให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นของตนเองชาวกูยบ้านทุ่งไชยยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักความสงบ เรียบง่าย พยายามสร้างความสามัคคีในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน เช่น หากมีการจัดงานบุญในเขตพื้นที่ใกล้เคียงที่มีชาวกูยอาศัยอยู่ ชาวบ้านทุ่งไชยจะเดินทางไปร่วมทำกิจกรรมเพื่อสืบทอดประเพณี พิธีกรรม และอัตลักษณ์ของตนเอง เช่นการเข้าร่วมงานเทศกาลดอกลำดวน ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น เพราะชาวกูยเชื่อว่า พื้นที่ที่ตนเองมาอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตนเองมาตั้งแต่โบราณ ดังคำขวัญประจำหมู่บ้านว่า
ทุ่งไชยถิ่นโบราณ นามขานเดิมธงชัย
สระใหญ่คู่นานปี บารมีหลวงฉิมลือเลื่อง
เมืองบุญบั้งไฟแสน แดนข้าวหอมมะลิ
หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี
วิถีชีวิต
วิถีชีวิต การดำรงชีพ และอาชีพ ของชาวบ้านทุ่งไชยยังแสดงออกให้เห็นถึงวิถีความเป็นชาวกูยที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่อดีตทั้งเรื่องการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน อีกทั้งมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน การแสดงออกต่าง ๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวตนภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความเป็นตัวตนของชาวกูยบ้านทุ่งไชยยังบ่งบอกถึงรากเหง้าของวิถีชีวิตตามแบบฉบับของชาวกูย
วัฒนธรรมชาวกูยเป็นวัฒนธรรมที่มีจริยธรรม มีวินัยและเอกภาพสูง มีลักษณะเด่นที่พบคือ การพึ่งพาตนเอง ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบ เชื่อผู้นำหรือผู้อาวุโส ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา แต่ยังคงเชื่อในการถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงวนเวียนปกปักรักษาลูกหลาน การบูชาผีบรรพบุรุษจึงเป็นการแสดงความกตัญญู ชาวกูยมีวัฒนธรรมประเพณีภาษาเฉพาะกลุ่มของตนเองขณะเดียวกันได้รับวัฒนธรรมจากเพื่อนบ้านอย่าง เช่น เขมร ลาวและวัฒนธรรมสยาม ทำให้วัฒนธรรมเดิมยังคงมีคือการถือผี พบว่าวัฒนธรรมมีบทบาทต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทยกูยจากแนวคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ไทยกูย (บูรณ์เชน สุขคุ้ม, 2556)
ระบบครอบครัว และเครือญาติ หมายถึง ระบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มคน ที่เกี่ยวข้องกัน โดยทางสายเลือด หรือการแต่งงาน การจะนับว่า ใครเป็นญาติของเราบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ในแต่ละวัฒนธรรม การจัดระบบเครือญาติเป็นเรื่องทาง "วัฒนธรรม" ไม่ใช่เรื่อง "ธรรมชาติ" แม้ว่าปรากฏการณ์ พ่อ แม่ ลูก จะเป็นเรื่องธรรมชาติ และมีปรากฏในทุก ๆ สังคม แต่ละสังคม ก็จะมีการจัดระบบเครือญาติในการกำหนดบทบาทแนวปฏิบัติ และหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวต่างกันไป
ปัจจุบันชาวชุมชนทุ่งไชย มีระบบครอบครัวแบบเดี่ยวโดยประกอบไปด้วยรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก บางครอบครัวนอกจากจะมีพ่อ แม่ และลูก ๆ แล้ว ยังอาจมีตา ยาย หรือ ปู่ ย่า รวมทั้ง ลุง ป้า น้า อา หลาน เป็นเครือญาติ อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่
การแต่งงานในชุมชนชาวบ้านกูยทุ่งไชย ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยจะเริ่มจากการที่ฝ่ายชายไปสู่ขอฝ่ายหญิงไว้ก่อนแล้วจึงกำหนดวันแต่งงานอีกที เมื่อถึงวันแต่งงานชาวบ้านก็จะมาร่วมในงานช่วยกันจัดแจงสถานที่พร้อมทั้งสิ่งของที่ใช้ภายในงานโดยทางด้านเจ้าสาวถือว่าเป็นเจ้าของงาน เพราะฝ่ายชายจะยกขันหมากมาแต่งงาน แต่บ้านของเจ้าสาว ต้องเตรียมสถานที่และสิ่งของต่าง ๆ เช่น พานบายศรีสู่ขวัญ เครื่องสมาปู่ย่า เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น ชาวกูยทุ่งไชยเมื่อจะมีพิธีที่ทำในบ้านจะต้องบอกกล่าวผีบรรพบุรุษทุกครั้ง ในงานแต่งงานก็เช่นเดียวกันจะจัดทำกันในช่วงเช้าก่อนเริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญบ่าวสาว เมื่อเริ่มสู่พิธีแต่งงานฝ่ายเจ้าบ้านจะนำขันที่มีผ้าปิดมิดชิดมาวางไว้ต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาวเพื่อที่จะให้เสี่ยงทายจับขันที่ใส่เงินมา ส่วนอีกขันนิยมใส่ใบไม้ ถ้าฝั่งเจ้าสาวจับผิดขันไปโดนขันที่ใส่ใบไม้ก็จะปรับไหมกันด้วยเครื่องดื่ม หลังจากนั้นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ้านก็ต้องขึ้นบ้านไปจับตัวเจ้าสาวโดยใช้ผ้าคลุมเอาไว้ทั้งเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาว โดยยื่นนิ้วมือออกมาให้ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวเสี่ยงทายจับ ถ้าจับผิดคนฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะโดนปรับไหมด้วยเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน ในการวางเงินค่าสินสอดฝั่งเจ้าสาวต้องเตรียมผ้าไหมผืนที่ดีที่สุดมาวางต่อหน้าญาติฝั่งเจ้าบ่าวโดยเรียกว่า "ปกขันโอ" เมื่อประกอบพิธีที่บ้านเจ้าสาวเสร็จแล้ว ในช่วงบ่ายก็จะไปประกอบพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว โดยที่เจ้าสาวจะต้องหาบน้ำจากบ้านของตนไปยังบ้านของเจ้าบ่าวเพื่อที่จะอาบน้ำให้พ่อแม่ฝั่งเจ้าบ่าว เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วจะเริ่มด้วยการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หลังจากนั้นจะเป็นพิธีมอบเครื่องสมาปู่ย่าตามลำดับขั้นของญาติฝั่งเจ้าบ้าน ในช่วงเย็นญาติฝั่งเจ้าบ่าวก็จะนำเจ้าบ่าวมายังบ้านของเจ้าสาวพร้อมด้วยเครื่องครัวเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยชาวบ้านเรียกว่า "มอบเขย"
ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า ยะจูฮ์, การทำนายเพื่อสืบหาสิ่งของทรัพย์สินที่หายไป ชาวกูยหรือกวยเรียกว่า "โปล", การรักษาโรคด้วยวิธีการบำบัดตามแนวความเชื่อกูยหรือกวยเรียกว่า "แกลมอ" และพิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับเลี้ยงช้าง (บัญญัติ สาลี, 2560)
การสืบผีและสายสกุล ชาวกูยบ้านทุ่งไชยจะมีบูชาผีบรรพบุรุษมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเรียกว่า "ยะจูฮ์" บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีธูปเทียนและกรวยที่เย็บจากใบตอง บางบ้านจะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านที่ไม่มีหิ้งหรือศาลอาจจะไปไหว้ผีบรรพบุรุษที่หิ้งหรือศาลของญาติพี่น้อง บ้านส่วนใหญ่จะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้านและจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นบรรพบุรุษจะกระทำอย่างน้อยปีละครั้ง ชาวบ้านจะเริ่มพิธีโดยเอาข้าวที่สุกแล้ว กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าว แล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่กล่าวเอาเหล้าค่อย ๆ รินลงขันอีกใบเหมือนการกรวดน้ำเสร็จแล้วหยิบของที่ใช้เซ่นอย่างละนิดไปวางบนหิ้ง ที่เหลือเอาไว้รับประทานและใช้เอง
ไพฑูรย์ มีกุศล (2540: 29-30) อธิบายถึงความเชื่อเรื่องยะจูฮ์ว่าเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษที่ชาวกูยเชื่อว่าจะเป็นผู้คุ้มครองคนในหมู่บ้าน จุดประสงค์ของการประกอบพิธีเพื่อเสี่ยงทายความเป็นไปเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องผลผลิตทางการเกษตร นอกจากการบูชาเพื่อเสี่ยงทายด้านการเกษตรแล้ว พรรณวดี ศรีขาว (2554: 54) ยังกล่าวว่า ยังสามารถไหว้หรือบอกกล่าวได้เป็นส่วนตัว แต่ข้อสำคัญคือ ต้องมี "จ้ำ" หรือหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเสมอ โดยในนวนิยายเรื่องนี้ พงศกรได้นำพิธีกรรมนี้มาเสนอเพื่อช่วยตามหาเด็กชายที่หายไปเพื่อช่วยเหลือพุทธิ การประกอบพิธีนี้จึงทั้งสร้างความรู้สึกเป็นมิตรของชาวกูยและพิธีก็แสดงความศรัทธาของคนแก่พุทธิไปพร้อมกัน
ชาวกูยมีผ้าประจำชาติพันธุ์ คือ ผ้าโฮลกูย หรือผ้าลายขอที่ชาวกูยนุ่งใส่มานานเหมือนลักษณะผ้าโฮลของเขมร แต่ลวดลายผ้าของชาวกูยที่มีลักษณะเป็นของชาวกูย เช่น ผ้าตะโหลกกูย ผ้าระหวี่ เป็นผ้าที่นิยมใส่เวลาทำงานบ้านหรือทำไร่ทำนา ผ้าที่นิยมใส่ในงานสังคม เช่น ผ้าตะแนะกูย ผ้าแก๊บ ผ้าดังกล่าวเป็นผ้ามัดหมี่ที่ถอดลวดลายมาจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ใกล้เคียง สีที่นิยมเป็นสีดำ และสีเมล็ดมะขามเพื่อสวมใส่ในงานมงคลหรือกิจกรรมวันสำคัญตามวันสำคัญประเพณีของหมู่บ้าน (วิลาศ โพธิสาร, 2546: 97-114)
การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กูย กล่าวคือ หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัด เงินนิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ ติ่งหู กลุ่มชาติพันธุ์นิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีเสียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญ ๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาลอมมีหัวซิ่น พื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดง ผ้าจะกวี เป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรมีลายทางยาวเป็นผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญ (บัญญัติ สาลี, 2560)
การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกูยบ้านทุ่งไชย คือการทอผ้าเก็บย้อมมะเกลือหรือที่ชุมชนเรียกว่า “เสื้อแส่ว” ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าชุมชนชาวกูยทุ่งไชยที่มีการทอผ้ามาอย่างยาวนาน ปัจจุบันผู้คนในชุมชนได้สนใจในเรื่องของการทอผ้า และการแส่วเสื้อเป็นอย่างมากทำให้เสื้อแส่วของชุมชนชาวกูยทุ่งไชยเป็นที่ยอมรับในท้องตลาดเป็นอย่างมาก
ธวัชชัย โคตรพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ให้ข้อมูลว่ามีลายการแส่วเสื้อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวกูยทุ่งไชยซึ่งลายจะแตกต่างไปจากชุมชนอื่น เช่น ลายเอวมดแดง ลายตาหน่าง ลายแส่วต่อตัวเสื้อ ดั่งที่มีผญาเรื่องของการแส่วเสื้อไว้ว่า
ฝั้นไหมเกี้ยว ขาวแดงสับสอด
ลายก่อนกี้ ขานเอิ้นสืบมา
เพิ่นกะขานชื่อเอิ้น เกาะลายตาหน่าง
เอาไว้เย็บแส่วเอ้ คอเสื้อแต่งเติม
บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นที่อยู่อาศัยที่เรียบง่าย กลุ่มชนของกลุ่มชาติพันธุ์กูยจะไม่พิถีพิถันสนการตกแต่งบ้านเรือน จะอยู่แบบธรรมชาติมากที่สุด และจะยังคงสภาพเหมือนที่สร้างไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์กูยจะเน้นที่ความแข็งแรงเป็นอันดับแรก เพราะนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงอีกด้วย เช่น เป็นคอกโค กระบือ เล้าไก่ เป็นต้น โดยจะใช้ส่วนที่เป็นใต้ถุนบ้านสำหรับเป็นคอกสัตว์เลี้ยง เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเป็นที่ป้องกันอันตรายแก่สัตว์เลี้ยงได้ เนื่องจากอยู่ใกล้กับคนเลี้ยงจะสะดวกในการดูแล ความเชื่อเหล่านี้ยังคงปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากเรือนที่ใช้อยู่อาศัยแล้วด้านข้างบ้านเรือนยังปลูกเป็นเพิงสำหรับเก็บอุปกรณ์ทางการเกษตร บ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านหลังเล็ก มีห้องไม่เกิน 2 ห้อง เป็นห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าของบ้าน แต่ส่วนมากจะนิยมนอนที่ห้องโถงเพราะเป็นส่วนที่โล่งที่สุดของตัวบ้าน อีกห้องเป็นห้องครัวสำหรับเก็บอุปกรณ์ในการทำครัวและเก็บอาหาร แต่บางครัวเรือนจะทำครัวที่ใต้ถุนบ้าน เพราะจะไม่เหม็นกลิ่นควันไฟ โดยกลุ่มที่ทำครัวใต้ถุนบ้านจะไม่นิยมใช้เตา แต่จะใช้หินก้อนใหญ่ 3 ก้อนมาบางเป็นสามเหลี่ยม ใช้ก้อนหินก้อนใหญ่ ๆ เพื่อจะได้สอดฟืนเข้าไปได้สะดวก ฉะนั้นการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ไม่ว่าจะปลูกสร้างเป็นแบบถาวรหรือเป็นกระท่อมเพื่ออยู่ชั่วคราว จะหันหน้าเรือนไปทางทิศตะวันออกและจะทอดบันไดไปทางทิศตะวันออกเช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสว่างหรือความเจริญรุ่งเรือง ห้ามหันหน้าเรือนไปทางทิศตะวันตกโดยเด็ดขาดเพราะเชื่อว่าทางทิศตะวันตกเป็นทางผ่านของภูตผีปีศาจ และวิญญาณทั้งหลาย
กลุ่มชาติพันธุ์กูยจะเชื่อคำโบราณที่ว่าการตั้งบ้านเรือนในที่เหมาะสมโดยจะเชื่อโบราณว่าพื้นที่จะปลูกเรือนต้องมีรูปร่างดุจดวงจันทร์ รูปเรือสำเภา หรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ในการแยกเรือนไปเพื่อจะปลูกเรือนใหม่จะนิยมปลูกเรือนใกล้ ๆ กับเรือนของพ่อแม่ มีข้อห้ามคือปลูกเรือนของลูกอยู่ทางทิศใต้ของเรือนพ่อแม่ หากจำเป็นก็มีการแก้เคล็ดโดยการให้พ่อแม่ขึ้นไปอยู่ก่อนสักระยะหนึ่ง นอกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแล้วกลุ่มชาติพันธุ์กูยยังนิยมปลูกยุ้งข้าวด้วย โดยยุ้งข้าวจะไม่นิยมหันไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันตก เพราะเชื่อทิศทั้งสองนี้เป็นที่อยู่ของช้าง จะทำให้ช้างมากินข้าวในยุ้งหมดบ้านเรือนของกลุ่มพันธุ์กูยจะสร้างในลักษณะสูงโปร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศแถบนั้น ในส่วนของตงจะมีลักษณะที่แปลกกว่าของชนกลุ่มอื่นคือมีรูปหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยมใช้ฐานวางบนรอดส่วนยอดรับพื้นที่เพราะบริเวณที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กูยจะมีตัวเลือกมาก เนื่องจากอยู่ในบริเวณใกล้ป่า จึงต้องใช้ตงเป็นสามเหลี่ยมเพื่อไม่ให้ตัวเลือกมาอาศัยอยู่ได้ บันไดของเรือนจะใช้ไม้จริงทั้งลูกบันไดและแม่บันได และจะนิยมขั้นบันไดเป็นจำนวนคี่เพราะเชื่อว่าคู่บันไดผีคี่บันไดคน กลุ่มชาติพันธุ์กูยจะเชื่อคำสอนของคนโบราณมาก หากโบราณมีข้อห้ามอย่างไรจะปฏิบัติด้วยความเคร่งครัด จะมีบ้างที่ขัดกับคำสอนโบราณ แต่กลุ่มชาติพันธุ์กูยที่อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านโพนทองในช่วงแรก ๆ จะเป็นการสร้างกระท่อมอยู่แบบชั่วคราวก่อน เป็นเรือนติดพื้น บริเวณที่ใช้ประโยชน์จะอยู่ติดกับพื้นดินการสร้างกระท่อมเป็นการสร้างเพื่อรอการปลูกเรือนหลังใหญ่ที่ถาวร หรือบางครอบครัวที่ยังไม่มีดินเป็นของตนเองต้องขออาศัยที่ดินของญาติเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยจึงต้องสร้างกระท่อมเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว (บัญญัติ สาลี, 2560)
ในปัจจุบันกระแสนิยมสมัยใหม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงเรือนพื้นถิ่นชาวกูย ทั้งต่อลักษณะทางกายภาพ วิถีชีวิต ความเชื่อ ซึ่งสวนทางกับพัฒนาการที่มีมาแต่ตั้งเดิม โดยจะเห็นจากอิทธิพลทางด้านวัตถุ สังคม ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจนเกิดค่านิยมสมัยใหม่ ทำให้ต้องปรับตัวไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีการพัฒนาและการปรับตัวอยู่ตลอด การศึกษาการเปลี่ยนแปลงเรือนพื้นถิ่นชาวกูยจึงเป็นตัวชี้วัดและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนดังแนวคิดที่ว่า ความเชื่อจะแฝงตัวอยู่กับทิศทางการวางเรือนและองค์ประกอบของเรือนอยู่เสมอ ซึ่งการคงอยู่ของความเชื่อในรูปแบบผังเรือนจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ารูปลักษณ์ภายนอกเรือน (อรศิริ ปาณินท์, 2543)
อาหารพื้นถิ่นแบบชาวกูยของบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอาหารพื้นบ้านที่ชาวกูยนิยมประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน เช่น แกงหอยแต่ที่เป็นอาหารเฉพาะของชาวกูยบ้านทุ่งไชย เช่น แกงเทาหรือแกงสาหร่ายน้ำจืด แกงมันปู แกงกล้วยใส่ไก่ป่นกบแห้งห่อหมกหน่อไม้ เป็นต้น
อาหารของชาวกูย เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากธรรมชาติเป็นหลัก ชาวกูยนิยมสามารถหาได้จากท้องไร่ท้องนา ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ งู หนูนา และอาหารที่หาได้จากท้องนาที่ชาวกูยนิยมกันมากคือ หอยขม
ชาวกูยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตน เอกลักษณ์อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์กูยมีทั้งอาหารที่ชาวกูยรับประทานอยู่ในชีวิตประจำวัน อาหารในพิธีกรรมทางศาสนา อาหารในพิธีกรรมประจำชุมชน รวมถึงลักษณะวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านของชาวกูย ได้แก่ ลักษณะอาหาร แหล่งที่มาของอาหาร การประกอบอาหาร เวลาในการบริโภคอาหาร ลักษณะการบริโภคอาหาร และลักษณะความเชื่อเรื่องการบริโภคอาหาร แต่ในปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดศรีสะเกษหลายด้าน ด้านหนึ่งคือการใช้เงินซื้อหาอาหารแทนการประกอบเอง ทำให้อาหารดั้งเดิมของตนเองเริ่มหายไป อาหารที่ใช้ในพิธีกรรมบางอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลง และสาเหตุหลักที่จะทำให้วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านของชาวกูยหายไปก็คือ การไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากชาวกูยมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวทำให้พฤติกรรมด้านอาหารเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม (บูรณ์เชน สุขคุ้ม, 2556)
การคลอดบุตรของชาวกูยบ้านทุ่งไชยอาศัยโรงพยาบาลของรัฐคือ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัยเป็นหลักเพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานตนเอง แต่ความเชื่อดั้งเดิมยังมีการถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต คือ เมื่อมีการคลอดบุตรแล้วจะมีแม่เฒ่าซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชนจะบอกให้มีการจัดเตรียม ขนม กล้วย ข้าวต้มมัด มาเซ่นผีบรรพบุรุษ เนื่องจากมีความเชื่อว่าหากมีลูกมีหลานมาเกิดใหม่ ชาวบ้านเชื่อว่ามี “ครูกำเนิด” ซึ่งเป็นครูประจำตัวของเด็กคลอดใหม่ จะต้องจัดเครื่องสักการบูชาครูไว้บนหัวนอนของตนเองเสมอ ครูจะช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญในครอบครัว
บัววัน ศรีบาง (2561: สัมภาษณ์) เล่าว่า ในหมู่บ้านมีหมอวันทอง ถาวร ที่ เชี่ยวชาญในการทำคลอดแบบพื้นบ้าน (สมัยก่อนยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์) ไม่ว่าจะเป็นการคลอดที่เด็กเอาเท้าออกก่อน หรือแม้กระทั่งทารกที่เสียชีวิตในครรภ์มารดา ท่านยังสามารถนำออกมาได้ ในอดีตนั้นเมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์มารดา ผู้ทำคลอดจะตัดสายรกด้วยการนำก้อนถ่านมารองสายรกแล้วตัดด้วยเปลือกหอย สำหรับรกนั้นส่วนใหญ่จะทำการฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้าน แล้วคลุมด้วยไม้หนามเป็นการป้องกันผีปอบ เพราะสมัยนั้นมีความเชื่อว่ามีผีปอบเป็นจำนวนมาก
การแต่งงาน ของชาวกูย หรือเรียกว่า (พิธีซัตเต) เป็นการแต่งงานที่มีขั้นตอนที่เป็นแบบชาวกูย 4 ขั้นตอน คือ 1. จีเจาะกะมอล คือการไปทาบทามลูกสาวของอีกฝ่าย 2.จีเมาะกะมอล คือ เจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว 3. จีโต๊ะ คือ การไปหมั้นหมาย 4. ซัตเต คือ พิธีแต่งงาน ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ชาวกูยได้ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตและยังคงรักษารูปแบบของพิธีแต่งตามแบบฉบับของชาวกูยได้อย่างเหนียวแน่น
ในอดีตการตายและการทำพิธีศพของชาวกูยบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จะมีการการฝังศพคนตาย ปัจจุบันการทำพิธีศพของชาวบ้านได้ถือปฏิบัติตามรูปแบบเดียวกันกับท้องถิ่นอื่น ๆ ของภาคอีสานที่นับถือศาสนาพุทธ
ปู่ตาเป็นผีรักษาบ้านเมืองดูแลสังคมในหมู่บ้านไม่ให้มีการข่มเหงรังแกเอารัดเอาเปรียบกัน ปู่ คือพ่อของพ่อ ตา คือพ่อของแม่ ซึ่งถือว่าเป็นถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่จะต้องคุ้มครองดูแลให้อยู่ดีมีสุขเวลามีกิจกรรมสำคัญจะต้องบอกกล่าวอยู่เสมอ เช่น การทำบุญบ้าน การออกเรือนใหม่ การย้ายบ้านเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นต้น จะไปก็ต้องลาจะมาก็ต้องไหว้ ปู่ตาได้วางหลักแนวทางปฏิบัติไว้ในสังคมหลายสิ่งหลายอย่างพ่อแม่จะด่าลูกหยาบคายก็ไม่ได้ผิดผีปู่ตา
ตูบปู่ตา (ศาลปู่ตา) คือบ้านหลังเล็ก ๆ จะถูกสร้างไว้ใกล้ ๆ หมู่บ้านปกติแล้วจะเลือกเอาบริเวณที่มีป่าร่มรื่นเย็นสบาย ไม่ให้คนเข้าไปถางบุกรุกไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ หรือไม้ที่แห้งแล้วก็เอาไม่ได้
การเลี้ยงผีปู่ตาปกติแล้วจะมีการเลี้ยงปีละ 3 ครั้ง คือครั้งที่ 1 วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ครั้งที่ 2 ก่อนลงทำไร่นาในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6 อาหารที่นำไปเลี้ยงจะเป็นไข่ต้มไก่ต้มและน้ำดื่ม หรือเหล้า ส่วนครั้งที่ 3 จะเลี้ยงข้าวเม่าในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ในการเลี้ยงก่อนลงทำนานั้นจะมี
การเสี่ยงทายด้วย เช่น เสี่ยงทายด้วยบั้งไฟขนาดเล็ก ถ้าบั้งไฟขึ้นตรงและสูงก็จะทายว่าข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าบั้งไฟแตกทายว่าฝนจะแล้งเป็นต้น ส่วนการสี่ยงทายด้วยคางไก่ที่นำไปเลี้ยงนั้น เสียงทายว่าถ้าฝนจะดีให้คางไก่แดง ถ้าฝนจะแล้งให้คางไก่สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน หลังจากเลี้ยงไก่เสร็จก็จะยกไก่มาดูแล้วก็ทายไปตามสีของคางไก่ ในปัจจุบันชาวบ้านทุ่งไชยยึดถือเอาลักษณะของคางไก่ และจะดูตรงกลางคางไก่ที่เป็นเส้นเล็ก ๆ และสั้น หากมีความโค้งสวยงามหมายความว่าข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์และครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าหากผิดแปลกไปจากนั้นก็ไม่ค่อยดีนัก
ชาวชุมชนบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มีการไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานสืบรุ่นต่อรุ่น
บัญญัติ สาลี (2560) กล่าวว่า "กลุ่มชาติพันธุ์กูยจะไหว้ผีบรรพบุรุษปีละครั้งเริ่มพิธีด้วยการนำเอาข้าวสุก เหล้า เนื้อสัตว์ กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าวสุกแล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองรักษาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรือง ในระดับชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์จะมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์จะเรียกว่า "เหรียนยะจูฮ์" เป็นศาลประจำหมู่บ้าน จะสร้างสัญลักษณ์ด้วยแกะเป็นรูปหน้าคนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ทำพิธีเซ่นไหว้ในคราวเสร็จหน้าเก็บเกี่ยวประมาณเดือน 3 ประเพณีการเซ่นไหว้ยะจูฮ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม และจะต้องนำหัวไก่ไปเพื่อทำการทำนายการทำเกษตรกรรม และกิจการครอบครัว"
ดังนั้นชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับอาหารที่เตรียมไว้ไหว้ผีบรรพบรรพบุรุษของตนเองตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาในอดีต ซึ่งการไหว้ผีบรรพบุรุษนั้นจะเลือกทำปีละครั้งในวันขึ้นปีใหม่ หรือบางชุมชนใกล้เคียงกันที่เป็นชาวกูยบางหมู่บ้านเลือกทำปีหนึ่ง 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของคนในครอบครัว เช่น ลูกหลานในครอบครัวสอบเข้ารับราชการได้จะมีการทำพิธีไหว้เซ่นไหว้เพื่อบอกให้บรรพบุรุษของตนเองทราบการเซ่นไหว้บรรพบุรุษถือว่าเรื่องสำคัญในวิถีชีวิตของ
ชาวกูยอย่างมาก เพราะนอกจากจะแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตนเองแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงรากเหง้าที่แท้จริงของชาวกูย
ประเพณีแห่ (จุด) บั้งไฟ ชาวชุมชนทุ่งไชยถือว่ามีความสามารถในด้านการประพันธ์ โดยเฉพาะการประพันธ์เพลงพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟประจำหมู่บ้านของตนเอง โดยจะมีบทเซิ้งบั้งไฟประกอบ
โอ่เฮาโอ่ละพวกฟ้อนเฮาโอ่ โอ่เฮาโอ่ละพวกฟ้อนเฮาเอย
ขอเฉลยตำนานบ้านเกิด ต้นกำเนิดของถิ่นทุ่งไชย
แม่นผู้ได๋นำมาสร้างก่อ ไผเป็นพ่อมาสร้างมาแปลง
พ่อเฒ่าแสงหรือแม่ใหญ่หล่า จั่งได้ว่าบ้านโท่งทุ่งไชย
ฟังเจ้าฟังบุผังดอกสร้อย ทุ่งไชยน้อยไชยใหญ่ไฮบืน
เว้าเหมิดคืนสาจั่งสิฮู้ แต่สิสู้เพียงส่วยกวยโมง
เริ่มแต่องค์พระจุฬาโลก ก่อนอโศกครองราชย์ธานี
เห็นสิมีมาสร้างหลายเหล่า มีหลายเผ่ามาสร้างห่างหนี
แต่หัวทีขอมมาสร้างก่อน เมิ่งแต่บอนสระถ่วงสระสิม
เมิ่งแต่ฮิมสระโกนโนนบ้าน คนขี้ค้านทำได้ดังลือ
หัตตะบือเมืองลาวท้าวก่าน เคยมาผ่านอยู่ได้สามปี
หอบกันหนีเพราะผีโรคห่า ตกหว่างค่าราวยุค ร.ศ.
จังได้หมอเซียงยงหน้าตาบ สำโรงทาบจ่างหว่างนางซาว
จั่งได้ยาวยืนมาค่าหมั่น ได้นามชั้นบ้านส่วยกวยโมง
พระประสงค์ลงนามขุนอาจ ให้อำนาจเป็นขุนราชขุนวัง
เว้าให้ฟังตามวาระหน่อย จากนั่นข่อยค้ามอญมา
เป็นกุลาขายคำขายฆ้อง สองพี่น้องเมืองน้อยเมืองหลวง
ไผกะหวงธงชัยใหญ่กว้าง จนได้ห่างสู้รบตบมือ
คนเป็นกือฮือฮาฟ้าลั่น เมืองน้อยหวั่นน้องแพ้สงคราม
จั่งได้นามธงชัยหม่องรบ ฟังให้ครบลบบวกไปนำ
วรรณกรรมทุ่งไชยใหญ่น้อย สองพันสามร้อยยี่สิบห้า พ.ศ.
จำบ่นอจำได้บ่หน่อ ไผเว้าต่อข่อยสิให้รางวัล
ไผฮู้ทันเขาเอิ้นนักปราชญ์ อย่าประมาท เว้าขู่คนเป็น
ตาบ่เห็นเป็นคนเว้าข่ม เว้าแล้วจ่มเฮานี่หนึ่งโต
ขออะโหลตามหาหม่องถืก กะเลยกืกเมิดบ้านเหมิดเมือง
เว้าแล้วเถียงหลุดลูกุพี้ คน ป.4 อ้างับจับผิด
ปราชญ์บัณฑิตกะโตผิดเฮาถืก กะเลยกืกไฮบ่ดิงเอย
จบเฉลยธงไชยไขศาสตร์ ให้นักปราชญ์มาต่อเรียงความ
ฟ้อนบ่งามถามหาแต่เหล้า เซาไว้ก่อนละพวกฟ้อนเฮาเอย
จะเห็นว่าบทเซิ้งบั้งไปของชาวบ้านทุ่งไชยนั้น เป็นการนำเอาประวัติศาสตร์ ตำนานความเป็นมาของหมู่บ้านทุ่งไชยในอดีตมาเล่าใหม่ ซึ่งบทเซิ้งเพลงดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นบทเพลงเซิ้งบั้งไปประจำหมู่บ้านของตนเองและเยาวชนหนุ่มสาวสามารถร้องได้จนขึ้นใจ
ประเพณีออกพรรษา
เมื่อถึงวันขึ้นที่ 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านทุ่งไชยจะร่วมกันจัดงาน วัดจะมีการลงสิม โดยทำพิธีตั้งแต่ตีสาม ซึ่งชาวบ้านจะนำ ไหม 1 ก้อน กล้วย 1 หวี ข้าวเม่า และจตุปัจจัยไปตักบาตรหน้าสิม (หน้าอุโบสถ) จนแล้วเสร็จพิธี จากนั้นจะมีการตักบาตรต่อในช่วงเวลาเพล ต่อจากนั้นในเวลาเย็นก็จะมีการประกอบพิธีจุดตีนกาตามความเชื่อ เพื่อบูชานางกาขาว และเล่าถึงการบำเพ็ญบารมีของ พระพุทธเจ้า 5 พระองค์
วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทางวัดทุ่งไชยจะมีการตั้งเทศน์แต่เช้ามืด แต่ก่อนจะมีการตั้งเทศน์นั้นจะมีพิธีการอย่าง เช่น พิธีตักบาตรเทโวโรหณะ โดยพุทธศาสนิกชนจะนำขนมไปใส่บาตรพระสงฆ์ในเวลาประมาณตีสี่เช่นกันหลังเสร็จพิธีทางสงฆ์ จะมีพิธีแห่ข้าวพันก้อนต่อ หลังจากนั้นก็จะเชิญอุปคุตมาเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อย (ไม่ให้มารบกวนการแสดงธรรมของพระสงฆ์) ซึ่งจะมีการแห่และไชโยโหร้องเสียงอึกทึกครึกโครม อุปคุตมีอาวุธปืน และดาบ ฯลฯ และในวันนั้นจะเป็นการนำกัณฑ์เทศน์มาถวายพระ โดยจับฉลากว่าคณะไหนจะจับถูกพระรูปใดก็จะนำปัจจัยไปถวายพระรูปนั้น และการแห่กัณฑ์หลอนด้วย
ประเพณีสงกรานต์ของชาวทุ่งไชยยังคงรักษาไว้ซึ่งแบบอย่างประเพณีที่มีมาแต่โบราณได้เป็นอย่างดี เช่น ก่อนจะถึงวันที่ 13 เมษายน ประมาณสิบห้าวันทางวัดจะอันเชิญพระพุทธรูปเก่าแก่ลงมาให้ชาวบ้านสรงน้ำ ทำการก่อเจดีย์ทราย และมีการแห่ดอกไม้ทั้งสี่ทิศโดยเริ่มจากทิศตะวันออกก่อนเป็นวันแรกแล้วเวียนไปเรื่อย ๆ จนครบทั้งสี่ทิศ ๆ ละสามวันรวมสิบสองวันพอถึงวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลทุ่งไชย เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำอย่างทั่วถึงในภาคเช้า และนำขบวนแห่เข้าวัดในตอนเย็น ภาคบ่ายจะมีพิธีรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน จนถึงเวลา 16.00 น. โดยประมาณขบวนสงกรานต์จะเริ่มเคลื่อนมาจากทิศตะวันออกวัดทุ่งไชยเรื่อย มีผู้คนมากมายแห่มาตามขบวนผ่านหมู่ต่าง ๆ ในชุมชนจนถึงวัด
ประเพณีสงกรานต์ของชาวทุ่งไชยจะมีการตบประทายห้วยโดยนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารเพลที่บริเวณห้วยสำราญซึ่งมีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน พอถึงเวลาเย็นจะมีการตั้งขบวนแห่เข้าบ้านเช่นเดียวกับการแห่สงกรานต์
ผีตาแฮกเป็นที่อยู่กับไร่นา ในอดีตก่อนจะลงมือทำนา และหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จทุกปี จะต้องเลี้ยงผีตาแฮก ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีเฝ้าดูแลรักษาข้าวในนา ไม่ให้มีศัตรูข้าวมาทำลายต้นข้าว ทำให้ข้าวในนาเจริญงอกงาม ได้ผลผลิตมาก เป็นการขอบคุณผู้มีพระคุณต่อชาวนาก่อนจะตักข้าวในยุ้งฉางออกมาบริโภคหรือจำหน่ายจ่ายแจก ญาติพี่น้องต้องทำพิธีเปิดยุ้งฉาง หรือ ทำบุญเปิดยุ้งฉาง เชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์นิยมทำพิธีกรรมในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นการบอกกล่าวพระแม่โพสพ และขออนุญาตตักข้าวออกจากยุ้งฉาง โดยตักไปทำบุญถวายพระที่วัดก่อนแล้วจึงตักมาบริโภคหรือจำหน่ายจ่ายแจกตามความเหมาะสม ชาวอีสานใต้เชื่อว่าในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันดี มีสิ่งมหัศจรรย์ เกิดขึ้น 3 อย่าง คือ "กบไม่มีปาก นากไม่มีรูทวาร มะขามป้อมมีรสหวาน" ในวันนี้ชาวนาในชุมชนอีสานใต้ จึงประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา คือ พิธีหาบฝุ่นใส่นา เชื่อว่า "เป็นวันฟ้าเปิดประตูฝน" พิธีเปิดยุ้งฉาง และพิธีบุญคูนลาน บุญข้าวจี่จัดขึ้นในเดือนสาม บุญข้าวกระยาสารทจัดในเดือนสิบ และบุญข้าวทิพย์จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาทุกปี (พระปลัดอนันต์ สนพะเนาว์ ศาสตรา เหล่าอรรคะ และบุญช่วย พาณิชย์กุล, 2560: 297)
ความสำคัญของผีตาแฮก ผีตาแฮกเป็นผีที่สำคัญเมื่อจะลงนาจะต้องมีการบอกกล่าวและเลี้ยงก่อนเสมอ ชาวบ้านเชื่อว่าผีตาแฮกจะบอกวันดีที่จะทำนาให้แก่เรา ข้าวตาแฮกจึงมีความสำคัญเวลาเกี่ยวข้าวเสร็จนำมัดข้าวมากองรวมกันไว้ ถ้าหากมีการตั้งล้อมข้าวก่อนเอาลงมาตีหรือนวดต้องขออนุญาตผีตาแฮกก่อนเสมอ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ
ในโอกาสที่จะสู่ขวัญทุกโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ เช่น สละโสดมาสู่ชีวิตคู่ จะสละเพศฆราวาสสู่สมณะ จะเดินทางไกล จะไปรบหรือจากรบหรือในโอกาสอื่น ๆ ที่ทำให้มีการหวั่นวิตกเมื่อสู่ขวัญแล้วก็จะสบายใจ บางครั้งคนต่างถิ่นเดินทางมาในงานหมู่บ้านชาวบ้านก็จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้
พิธีกรรมเริ่มจากเจ้าภาพผูกแขนหมอสูด จากนั้นให้ผู้รับการสู่ขวัญเป็นผู้จุดเทียนมงคล หมอสูทจะเริ่มเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยานแล้วจะสวดเรียกขวัญให้กลับมาสู่ร่างกายของผู้รับการสู่ขวัญ จากการที่เรียกขวัญมาสู่ร่างกายของผู้รับการสู่ขวัญจึงเรียกว่า "พิธีสู่ขวัญ" ชาวบ้านจะนิยมใช้พานบายศรีซึ่งอาจจะเป็นหลายชั้นแล้วแต่โอกาส
พิธีสู่ขวัญเจ้าคี (สัปปะเหร่อ) ของชาวบ้านทุ่งไชย หมายถึง ในความเชื่อของชาวทุ่งไชย เวลามีการเผาศพ เจ้าคี จะเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่คอยตรวจสอบความเรียบร้อยของศพ ดังนั้น เวลาเจ้าคี กลับมาที่บ้านคนตาย ซึ่งจะมีการสวดอุทิศให้กับคนตายเป็นคืนสุดท้าย จึงมีพิธีสู่ขวัญเจ้าคี เพื่อทำการเรียกขวัญ ให้กลับเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว ขวัญจะได้ไม่ตามผู้ล่วงลับไป
ไซเดนฟาเดน (Seidenfaden, 1952: 178-179) กล่าวว่าชาวกูยมีความเชื่อเรื่องผี มีพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีการสร้างศาลปู่ตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้านอันเป็นที่ประกอบพิธีกรรมให้จิตใจเข้มแข็ง มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยผ้าไหมสีดำ สีแดง มีชีวิตที่สามารถปรับเปลี่ยนได้กับทุก ๆ ชนชาติ สามารถกลมกลืนวัฒนธรรมเข้ากับชนชาติอื่นได้ดี
นอกจากนั้น ชาวกูยยังนับถือวิญญาณได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ผีปอบ และเรื่องขวัญ ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้ ชาวกูยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผี จึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ โดยมีการรำแกลมอ หรือผีมอ ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครูเสียก่อน
เฟเกีย วานเดอร์ฮาร์ตและบริภิตา วอยดอส (2533: 38-45) กล่าวว่า ชาวกูยเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ยังมีความเชื่ออย่างมากในการถือผีตามประเพณีดั้งเดิมและรู้ว่ามีวิญญาณมากมายตามป่าเขาต้องกราบไหว้อ้อนวอนให้พ้นเคราะห์
ความเชื่อทางศาสนาของชาวกูยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผี ชาวกูยมีประเพณี ภาษา วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตกทอดมาตั้งแต่อดีตที่เคยเจริญรุ่งเรือง มีความเชื่อตามแบบโบราณว่าวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วยังคงวนเวียน ปกปักรักษา ดูแลทุกข์สุขของญาติพี่น้อง
ปรานี วงษ์เทศ (2539: 84-91) กล่าวว่า ชาวกูยหรือกวยมีความเชื่อว่า ตะกวดเป็นตัวแทนของอะหยะ ตะกวดเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เสมือนบรรพบุรุษชาวบ้าน จะไม่ทำร้ายทุกปีในวันขึ้นเดือน 3 และเดือน 6 ชาวบ้านจะทำพิธีแซนอะหยะ หรือเลี้ยงผีปู่ตา ทายคางไก่ เซ่นไหว้เสมาหินและทำพิธีเซ่นไหว้ตะกวดที่หอผีบริเวณโพรงไม้ที่ตะกวดจำศีลอยู่ ฐิติรัตน์ เวทย์ศิริยานันท์ (2545) กล่าวว่าตะกวดว่าเป็นตัวแทนของผีปู่ตาแล้วตะกวดยังเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มีลักษณะคล้ายกับ “โทเท็ม” (Totem) ของกลุ่ม หากมีตะกวดหายไปตัวเดียว ชาติพันธุ์กูยจะต้องทำพิธีเสาะหาและนำตะกวดกลับคืนมาสู่ชุมชน และที่สำคัญคือ ถึงแม้จะมีความเจริญต่าง ๆ ได้เข้ามาในชุมชนของชาติพันธุ์กูย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปคือ การนับถือเรื่องผีปู่ตาตะกวด การที่ชาติพันธุ์กูยได้มีการนับถือผีปู่ตาตะกวดให้มีลักษณะเด่นมีอำนาจเหนือกว่าการนับถือเรื่องอื่นในชุมชน ทั้งนี้เพราะหากชาติพันธุ์กูยปล่อยให้การนับถือเรื่องอื่นมีอำนาจเด่นกว่าเรื่องผีปู่ตาตะกวดย่อมส่งผลให้การนับถือผีปู่ตาตะกวดหายไปจากชุมชน มีผู้สันนิษฐานว่าตราบใดที่มีการนับถือผีปู่ตาตะกวดยังคงอยู่ในชุมชน ชาติพันธุ์กูยก็สามารถดำรงความเป็นชาติพันธุ์กูยเอาไว้ได้
สมหมาย ชินนาค (2539) พบว่า ความเชื่อเรื่องผีปะกำ เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อชาวกูย ที่ดำรงอยู่ในชุมชนซึ่งยังคงทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนใน 2 ระดับ คือ ระดับครอบครัว และระดับปัจเจกบุคคล ในระดับครอบครัว ผีปะกำตอบสนองต่อการสืบต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เห็นได้จากพิธีกรรมเกี่ยวกับวงจรชีวิต ซึ่งยังคงมีการเซ่นผีปะกำอยู่และมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการพาช้างไปเที่ยวเพิ่มขึ้นมา ส่วนระดับปัจเจกบุคคล ก็จะพบว่ามีการเซ่นผีปะกำกันบ่อย เมื่อลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วย และแก้บนในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาความคับข้องในส่วนบุคคล ซึ่งนับว่าจะทวีมากขึ้น
นอกจากนี้ผียะจูฮ์เป็นผีที่ชาวบ้านในแถบภาคอีสานให้ความเคารพนับถือศาลสำหรับผียะจูฮ์มักปลูกไว้ในที่ดอน จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอนปู่ตาหรือดอนตาปู่ บางแห่งอาจจะเป็นผีสองสามีภรรยา ชาวบ้านเรียกว่าผีตายายหรือผีปู่ย่าผีปู่ตาจัดเป็นผีประเภทบรรพบุรุษที่เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เคยอยู่อาศัยในสถานที่นั้น ๆ มาก่อน ครั้นตายไปแล้ว ด้วยความอาลัยรักในสถานที่ดวงวิญญาณจึงยังคงสิงสถิต คอยปกปักดูแล คุ้มครอง รักษาสถานที่นั้น ผีปู่ตาเมื่อพูดตามลักษณะทางภพชาติมีทั้งที่เป็นภูตผีจริง ๆ (ผีประเภทอสุรกาย) และเป็นเทวดา (รุกขเทวดาก็มี ภูมิเทวดาก็มี) เป็นผีระดับสูง คือมีอำนาจมากมีบารมีมาก เหนือภูตผีและสัมภเวสีทั่วไปในแถบนั้น ผีปู่ตามีทั้งที่มีบริวารมากและบริวารน้อย หรืออยู่เพียงลำพังก็มี (ธีระพรรณ มีสกุล, 2559)
ศาสนาและความเชื่อของชาวกูยบ้านทุ่งไชยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผี เช่นความเชื่อเรื่องผีเป้า ผีโพง บุญมา บุญสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ให้ข้อมูลว่า "เมื่อตอนที่ตนยังเด็กและบรรพชาอยู่ที่วัดทุ่งไชย วันหนึ่งญาติโยมจากบ้านกล้วยกว้างได้มานิมนต์พระวัดทุ่งไชย คือ อาจารย์ทองสุนทร์ โปร่งจิต ขณะนั้นท่านเป็นพระนักเทศน์และมีผู้ติดตามไปด้วย 2 รูป คือ สามเณรบุญมาและสามเณรบิน เมื่อเทศน์เสร็จจึงพาลูกศิษย์กลับวัดทุ่งไชย ในสมัยนั้นต้องเดินตามคันนา โดยผ่านบ้านบุยาวบ้านโคกมาบ้านทุ่งไชยและอยู่ในช่วงฤดูทำนาชาวบ้านหาบกล้าไปนา ขณะเดินทางมาใกล้จะถึงบ้านทุ่งไชยบริเวณหนองแก ซึ่งอยู่ในเขตหมู่ที่ 3 ได้พบแสงไฟประหลาดผุดขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีโพง"
นอกจากความเชื่อเรื่องผีแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพญานาคอีกด้วย เห็นได้จากการที่ชาวบ้านเข้าไปกราบไหว้บูชาและขอพรในสิ่งที่ตนเองปรารถนายิ่งทางวัดทุ่งไชยมีการสร้างรูปปั้นพญานาคขึ้นรอบวัดยิ่งทำให้ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อมากขึ้น โดยที่ชาวบ้านมีการเล่าว่าวัดทุ่งไชยมีอายุมา 300 ปี มีการกล่าวขานถึงเรื่องพญานาคในพื้นที่มานานแล้วว่าบริเวณในวัดมีพญานาคอาศัยอยู่
ในอดีตมีความเชื่อเรื่องพญานาค ถือว่าเป็นเจ้าแห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์และตำนานเรื่องพญานาคมีปรากฏอย่างแพร่หลายในสังคมไทย ชาวบ้านในชุมชนเชื่อว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือเมืองบาดาลคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่เป็นสัตว์ที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เช่น เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ ความมั่งคั่ง ความร่มเย็นเป็นสุข เป็นต้น รวมทั้งยังยกย่องนาคเป็นบรรพบุรุษของคนในท้องถิ่น ดังนั้นพญานาคจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งทางความเชื่อของคนในชุมชนทุ่งไชยจึงมีการไปบูชาและขอพรตามความเชื่อของตนเอง
ชาติพันธุ์กูย เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อในสิ่งเร้นลับและเหนือธรรมชาติ โดยนำความเชื่อเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของกลุ่มชนนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานในการอพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเขตภาคอีสานตอนใต้และได้นำวัฒนธรรมความเชื่อดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต (พนาสินธุ์ ศรีวิเศษ, เชาว์ การวิชา และจันจิรา ศิรินนท์, 2561)
ชาวบ้านเชื่อว่าหากใครละเมิดหรือแสดงออกในทางที่ไม่ดีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนแล้วจะต้องมาขอขมาโทษไม่เช่นนั้นจะมีอันเป็นไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยจะไปปรึกษากับผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เรียกว่า "เฒ่าจ้ำ" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้านคนที่เป็นเฒ่าจ้ำได้ต้องเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์ และเป็นคนที่จิตใจเมตตาสามารถที่จะช่วยเหลือชาวหมู่บ้านของเราได้ทุกเมื่อ
เฒ่าจ้ำบ้านทุ่งไชย จะคอยให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน เช่น ชาวบ้านบางคนไม่สบายเกิดเจ็บป่วยอาศัยความเชื่อพื้นบ้านไปปรึกษาเฒ่าจ้ำ จากนั้นเฒ่าจ้ำจะพาไปที่ศาลปู่ตาเพื่อทำการเข้าทรง ติดต่อกับปู่ตา พอหลังจากติดต่อกับปู่ตาได้จะบอกแก่ผู้ที่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาจากการดำเนินชีวิต เฒ่าจ้ำในร่างทรงปู่ตาจะให้นำของมาเซ่นไหว้ เป็นอันเสร็จพิธี
"เฒ่าจ้ำ" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้านคนที่เป็นเฒ่าจ้ำได้ต้องเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์ และเป็นคนที่จิตใจเมตตาสามารถที่จะช่วยเหลือชาวหมู่บ้านของเราได้ทุกเมื่อ
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวชุมชนทุ่งไชย คือวัดทุ่งไชยซึ่งเป็นวัดที่กล่าวกันมาว่ามีอายุ 200 กว่าปีทางเข้ามีพญานาคเฝ้าประตูวัด เข้าไปจะพบกับระฆังไม้เก่าแก่ และศาลากลางน้ำที่สวยงาม นอกจากจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชนแล้ว ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการนำเอาความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับพญานาคมาสร้างเป็นรูปปั้น พญานาค 7 เศียรเอาไว้ในบริเวณต่าง ๆ รอบวัด
ภายในวัดยังมี "สระสิม" ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งเคยเป็นวัดเก่าก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในบริเวณปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตไม่มีอาณาเขตของวัดที่แน่ชัด จึงมีการสร้างสิมไว้กลางสระน้ำเพื่อเป็นที่ประกอบกิจของทางคณะสงฆ์ จึงเรียกว่าสระสิม
ภายหลังได้มีการย้ายวัดจึงได้รื้อสิมออกไปด้วยอีกทั้งยังมีวัดป่าคูเลิง (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านทุ่งไชยหมู่ที่ 1 โดยห่างจากหมู่บ้านประมาณ 100 เมตร วัดร้างป่าคูเลิง มีรูปลักษณะสี่เหลี่ยมมีคูคลองน้ำล้อมรอบ มีประตูเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีเกาะอยู่ตรงกลางสำหรับเป็นกุฏิของพระภิกษุสงฆ์ ตรงกลางเกาะมีเนื้อที่ประมาณ 2 งานเศษมีคูคลองน้ำล้อมรอบ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1 ไร่ 1 งานในบริเวณใกล้เคียงสระสิมยังพบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านกราบไหว้บูชา คือ ศาลปู่เจ้าศรีสุทโธ และย่าศรีปทุมเทวี
ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตบริเวณศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ เป็นวังพญานาค บริเวณหนองแห่งนี้ ที่มีวัดทุ่งไชยอยู่อีกฝั่งหนึ่ง หนองสระน้ำแห่งนี้ เมื่อก่อนมีขนาดใหญ่มาก และมีถ้ำ มีวังน้ำลึกซึ่งเชื่อว่าเป็นวังพญานาค มีคนสมัยก่อนเคยพบเห็นพญานาคที่มาโผล่เศียรขึ้นเหนือน้ำตรงกึ่งกลางสระน้ำแห่งนี้ ต่อจากนั้นมาจึงมีการสร้างศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธขึ้นเพื่อให้คนได้เข้ามากราบไหว้บูชาขอพร ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการสร้างรูปปั้นพญานาคและทำพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่
ชาวบ้านร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงเบิกเนตรพญานาคคู่มีกำหนดงานวันที่ 22 - 23 เมษายน 2562 โดยชาวบ้านเชิญพราหมณ์ที่ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการเซ่นไหว้พญานาคจากคำชะโนด เดินทางมาพร้อมคณะชุดนางรำบวงสรวง บายศรีพญานาค 9 เศียร ประกอบอาหาร ผลไม้ ของหวาน ทำเครื่องเซ่นไหว้บูชา และทำการอัญเชิญพญานาคาทั้งสองมาประทับเพื่อให้ประชาชนได้ทำการบวงสรวงบูชา และให้ปกปักรักษาประชาชนในภาคอีสานตอนล่าง ประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ชาวตำบลทุ่งไชยได้อยู่เย็นเป็นสุข
นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคแล้ว ยังพบความเชื่อเกี่ยวกับศาลปู่ตา ซึ่งชาวบ้านถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะการทำนายก่อนการปลูกข้าว ซึ่งจะมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้นำพิธีเสี่ยงทาย คือ ถ้าคางไก่ที่เสี่ยงทาย โค้งงอ สวย งามเหมือนกับรวงข้าว ที่โน้มลงมา เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวข้าวในนาจะได้ผลผลิตมาก
การทำพิธีสี่ยงทายดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคน ธรรมชาติ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ในชุมชนหมู่บ้านอีสานมีมาตั้งแต่ช้านาน เป็นบ่อเกิดของการพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างเกื้อกูล คนพึ่งป่า ป่าพึ่งคน คนพึ่งวัฒนธรรมความเชื่อ อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจของคนในหมู่บ้าน
การเล่นแกลมอ (รำผีฟ้า)
กลุ่มชาติพันธุ์กูยมีความเชื่อว่า ถ้าหากใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ มีความเชื่อว่าอาจจะถูกผีบรรพบุรษลงโทษ เพราะทำผิดศีลหรือละเมิดข้อห้ามลบหลู่ผี วิธีแก้ของกลุ่มชาติพันธุ์กูยเริ่มต้นด้วยการทำนาย โดยการนำเอาข้าวสาร 1 ถ้วย และเงินเหรียญ 1 บาท วางบนข้าวแล้วนำไปให้แม่เฒ่าผู้ทำหน้าที่ให้ดูว่า ความเจ็บไข้หรือปัญหาที่เกิดมีขึ้นมาจากสาเหตุอะไร จากนั้นแม่เฒ่าจะเอาข้าวสารนั้นโปรยไปรอบ ๆ ข้าง ๆ ตัว พร้อมพูดคาถาพึมพำ แล้วเอาข้าวสารเล็กน้อยใส่ในฝ่ามือซ้ายแล้วจับกระปุกปูนแกว่งค่อย ๆ เหนือข้าวสารนั้น แล้วทำนายสาเหตุของปัญหา กูยเรียกการทำนายนี้ว่า "โปล" นอกจากนี้ก็มีผู้เก่งทางไสยศาสตร์เรียกว่า "ถัม" มาจากคำว่า "ธรรม" บางแห่งเรียกว่า อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีคาถาอาคมสามารถแก้ปัญหาทั้งเจ็บไข้ได้ป่วยและปัญหาชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้ (บัญญัติ สาลี, 2560)
พิธีกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด พิธีกรรมดังกล่าวมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มิได้ปรากฏหลักฐานหรือการบันทึก การนำผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในพิธีและให้ฟังการบรรเลงดนตรีประกอบกับการฟ้อนการแสดงท่าทางร่ายรำจากบทเพลงที่นักดนตรีบรรเลง ซึ่งการฟ้อนรำจะกระทำโดยผู้ใหญ่ เช่น แม่ หรือ คนเฒ่าคนแก่ เชื่อว่าในตัวลูกหลานที่เจ็บป่วยจะมีผีมออยู่ในร่าง เมื่อได้รับฟังการบรรเลงหรือการร่วมฟ้อนรำจะทำให้อาการป่วยทุเลาลงและหายจากอาการเจ็บป่วย (พนาสินธุ์ ศรีวิเศษ, เชาว์ การวิชา และจันจิรา ศิรินนท์, 2561)
ผู้นำประกอบพิธีกรรม หรือ "แม่หมอ" จะทำหน้าที่ในการอัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง มีนักดนตรีประมาณ 5–7 คน นางรำตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเครื่องบวงสรวง เซ่นสังเวย จำนวน 1 ชุดประกอบด้วย เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ พานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน เงิน ทอง เหล้า บุหรี่ หมากพลู ชุดขัน 5 ดาบ 1 เล่ม ไข่ไก่ 1 ฟอง ข้าวสาร และเครื่องประกอบอื่น ๆ แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละชุมชน พิธีกรรมจะเริ่มต้นจากการอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรษมาเข้าประทับร่วงแม่หมอ จากนั้นลูกหลานที่ร่วมพิธีจะผูกข้อมือให้แม่หมอ และแจ้งถึงความประสงค์ที่ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมา เสร็จแล้วแม่หมอ หรือ คนทรงก็จะดื่มกินเครื่องเซ่นสังเวย ก่อนที่จะลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบ ๆ เครื่องสักการะ ผู้ที่ร่วมอยู่ในพิธีก็จะมีอาการสั่นเทิ้มไปตาม ๆ กัน คนที่อยู่ใกล้ก็จะผูกข้อมือรับและผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็จะลุกขึ้นฟ้อนรำไปรอบ ๆ เครื่องสักการะ เช่นเดียวกับแม่หมออย่างสนุกสนาน กินเวลาข้ามวันข้ามคืนเช่นเดียวกับพิธี "โจลละม็วด" ของชาวเขมร นั่นเอง (บัญญัติ สาลี, 2560)
เครือจิต ศรีบุญนาค (2539) กล่าวว่า พิธีกรรมแกลมอ เป็นภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรีกฎระเบียบทางสังคม ซึ่งผีมอ เป็นผีในสายตระกูล มีบทบาท แบ่งได้ 2 ลักษณะ บทบาทระดับปัจเจกบุคคล และในระดับชุมชน ระดับปัจเจกบุคคลพบว่าความเชื่อในพิธีกรรมมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจในภาวะวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย ส่วนระดับชุมชน พิธีแกลมอ มีบทบาทในการรักษาโรคการควบคุมสังคม และระบายความกดดันและความขัดแย้ง
แกลมอแบ่งการประกอบพิธีกรรมเป็น 2 ลักษณะ คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธี จะมีเฉพาะกลุ่มผีมอเหมือนกันเท่านั้น ความสนุกสนานจะมีกับทุกคนในบริเวณประกอบพิธีกรรมเครื่องประกอบหิ้งมอ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนกับวิถีชีวิตชาวกูย ภาษาที่ใช้เป็นภาษาลาวแสดงความสัมพันธ์และการติดต่อกับชาวลาวอย่างยาวนานและต่อเนื่อง (อิศรา จันทร์ทอง, 2544) อีกทั้งยังเป็นการรําลึกนึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญูรู้คุณและใน การประกอบพิธีกรรมการละเล่นยังสัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนา มีการเล่นการทําบุญสุนทาน ตักบาตรประเพณีในการดําเนินชีวิตประจําวัน (วีระ สุดสังข์, 2542: 12-16)
ชาวกูยบ้านทุ่งไชยมีการละเล่นแบบโบราณที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีต คือการรำแกลมอ หรือแกลจะเอง หรือ รำครก ซึ่งเหมือนกับการรำผีฟ้าของจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การรำผีมอ เป็นการรำเพื่อดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครู การเจ็บไข้อาจทำให้บรรเทาโดยการจัดพิธีกรรมรักษาคนป่วย เพราะชาวกูยมีความเชื่อว่ากันมาตั้งแต่อดีตว่า หากคนในภายในชุมชนเจ็บป่วยขึ้นมา อาจเป็นเกิดจากการกระทำของภูตผี ดังนั้นจึงมีการทำพิธีอ้อนวอนให้ภูตผีที่เชื่อว่าเป็นผู้มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย โดยจัดให้มีการรำผีมอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรำผีฟ้าของกลุ่มที่พูดภาษาลาว การรำผีมอมีการสืบทอดรับช่วงกันมา ผู้ที่จะเป็นผีมอจะต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครู เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าประพฤติหรือเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติกันสืบต่อกันมาเพราะกลัว "ผิดครู"
องค์ประกอบและคุณสมบัติของผีฟ้า ผีฟ้ามีขนบธรรมเนียมการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนและแบบแผน โดยผีฟ้าจะต้องมีหิ้งบูชา ไว้สำหรับกล่าวบูชาเวลาจะไปรักษา หรือ เลี้ยงข่วง ที่หิ้งจะมี เครื่องคาย ซึ่งคือเงินที่ใส่ในขันเพื่อบูชาครู โดยเครื่องคายยังมีเครื่องประกอบหลายอย่าง คือ ดอกไม้ กับเทียน โดยจะใช้แบบ ขันห้า หรือขันแปด (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ หรือ ดอกไม้ 8 คู่ เทียน 8 คู่) นอกจากนี้ยังมีเทียนขี้ผึ้งโดยใช้ฝ้ายผูกกับหลักหรือตะปู ขันน้ำหอม เทียนแผ่น และเทียนขี้ผึ้ง
เครื่องแต่งกายของผีฟ้าจะแต่งตัวกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเองโดยใส่เสื้อแส่วสีดำส่วนขั้นตอนการรักษาของผีฟ้าจะเริ่มจากการ รำเชิญผีฟ้าลง จากนั้นจึงรำส่อง (รำวินิจฉัยโรค) โดยส่องผ่านกระจก ซึ่งผีฟ้าจะบอกว่ามีผีอะไรมาทำผู้ป่วย หรือผู้ป่วย ไปทำอะไรมา ต่อมาถ้ารำส่องแล้วแล้วพบว่า ผีทำ คือผู้ป่วยได้ไปทำอะไรผิดไว้ ผีฟ้าจะทำการรักษาโดยใช้พิธี เสี่ยงไข่ ว่าจะหายหรือไม่ โดยการเสี่ยงไข่ให้ตั้งบนพื้น ก่อนที่จะทำการรักษาจะมีการรำ เรียกขวัญ ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของผู้ป่วย จากนั้นจึง รำปัว (รำรักษา) และรำสั่งสอน ซึ่งคือ การรำอบรมสั่งสอนผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายคือ รำส่ง คือการรำส่งแถนกลับคืนฟ้า การรักษาตรงนี้จะมีบางช่วงตอนที่แม่เมือง จะถามคนป่วยว่า "เจ้าจะเป็นอะไร" โดยมีความหมายคือ "เจ้าจะเป็นตัวละครอะไร ในนิทานพื้นบ้านของชาวอีสาน" จากนั้นคนดังกล่าวจะถูกกำหนดให้เป็นตัวนี้ตลอดไป การกำหนดตัวละครนี้จะถูกนำมาใช้ในอีกครั้งใน พิธีเลี้ยงข่วง ซึ่งผู้ป่วยที่เคยถูกรักษานี้จะออกมาร่ายรำเป็นตัวละครนั้นอย่างสนุกสนาน
การเลี้ยงข่วงผีฟ้าเป็นพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของพวกผีฟ้า ลูกศิษย์ และผู้ป่วยที่เคยมารับการรักษากับผีฟ้า ตามตำนานกล่าวว่า จะเลี้ยงข่วง ในยามดอกไม้บาน โดยฤดูดอกไม้บานจะเริ่มตั้งแต่เดือน 3 – 5 วิธีการเลี้ยงข่วงจะเลี้ยงที่ลานของแม่เมือง เมื่อถึงเวลาของงานเลี้ยงข่วง จะมีการส่งข่าวบอกต่อกัน คนอยู่ไกลมักจะมาก่อนเพื่อมาเตรียมเครื่องพิธี ซึ่งเครื่องสำคัญคือดอกจำปา ทำเป็นพวงมาลัยใส่หัวหรือคล้องคอ พอตกตอนบ่ายจะเริ่มพิธีการเลี้ยงข่วงซึ่งเป็นช่วงที่สนุกกันเต็มที่ เพราะลูกศิษย์ และผู้ป่วยที่ผีฟ้าเคยรักษาและถูกสมมติให้เป็นตัวละครจะออกมารำฟ้อน คนไหนรำเหนื่อยพัก คนไม่เหนื่อยรำไปฟ้อนไป มีความวุ่นวายขวักไขว่ ท่ามกลางเสียงดนตรีที่มาจาก แคน พิณ กลอง และฉาบ ที่ให้อารมณ์และความรู้สึกในเชิงวิงวอน ขอร้อง ต่อแถน
การเล่นช้าง เล่นม้า โดยแม่มอ นำช้าง ม้า ที่ทำจากไม้ยอ มาให้มอถือ และรำรอบเสาพิธี 3 รอบ จะมีผู้ที่จะมาลักช้าง มาเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ร่วมพิธีกรรม โดยกระเซ้าเย้าแหย่ และดึงไปจากมือแม่มอ แล้วนำไปซ่อนไว้บริเวณใกล้เคียง จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตามหาช้าง ม้า คนที่ทำหน้าที่ตามหาช้าง ม้า คือนายพราน ถือดาบ ธนู และสนา หรือหน้าไม้ ไว้สำหรับป้องกันตัวเอง ขณะไปตามช้าง ม้า กลับมา โดยการนำข้าวต้ม ไปเป็นเสบียง ระหว่างที่ตามหาช้าง ม้า เมื่อตามเจอแล้วแม่มอ และมอคนอื่น ๆ ออกมาตั้งแถวรอคล้องช้าง และจับม้า นอกปะรำ ในมือจะถือฝ้าย เตรียมคล้องช้าง และจับม้า เมื่อคล้องช้าง และจับม้าได้แล้ว ก็จะเข้าในปะรำ
แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด การรักษาโรคบางอย่างจำเป็นต้องใช้ค่ารักษาที่สูง ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งหันไปรักษาด้วยวิธีการแบบ พิธีแกลมอประกอบขึ้นยามเหตุการณ์วิกฤตในครอบครัว จึงเป็นวิธีการบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่ยังคงยึดมั่นค่อนข้างเหนียวแน่นเกือบทุกผู้ทุกคน สังเกตได้จากการเข้าร่วมพิธีกรรมของกลุ่มชนจะพบเห็นทุกเพศทุกวัยในวงพิธีกรรม แม้ว่าทัศนคติของคนบางคนจะไม่เชื่อในเรื่องนี้ แต่หากมีการประกอบพิธีกรรมก็ยังฝากปัจจัยอื่น ๆ เข้าสมทบ และผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ดูหมิ่นหรือกล่าวร้ายต่อแกลมอแต่อย่างใด พิธีกรรมที่เรียกว่าแกลมอ หรือว่ารำผีฟ้าก็ยังอยู่ในระบบความเชื่อตลอดไป
เมื่อกล่าวถึงการดูแลรักษาสุขภาพและรักษาโรค จะเห็นได้ว่าชาวกูยบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มิได้มีความรู้ด้อยกว่าคนในท้องถิ่นอื่นแต่อย่างใด เพราะชาวบ้านทุ่งไชยได้สร้างสรรค์ความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาโรคแบบพื้นบ้านเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุนไพรไทยซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งในปัจจุบัน
การรักษาโรคในสมัยก่อนชาวบ้านอาศัยหมอพื้นบ้านที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคแต่ปัจจุบันชาวเมื่อระบบการแพทย์เจริญขึ้นชาวบ้านได้เข้าไปรักษาโรคต่าง ๆ ที่ศูนย์อนามัยและโรงพยาบาลเป็นหลัก
บ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มีหมอยาพื้นบ้านที่ผ่านการรับรอง หมายถึง หมอพื้นบ้านที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดกรองคุณสมบัติการเป็นหมอพื้นบ้าน ตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 เพื่อขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านและออกใบรับรองโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ คือ นายเสาร์ ศรีแย้ม ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านประเภทหมอพิธีกรรม โดยได้รับการสืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ
ดนตรีประกอบพิธีกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดนตรีมีส่วนช่วยให้การประกอบพิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์และมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องดนตรีประกอบพิธีกรรมนั้นผู้ที่บรรเลงจะเลือกเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับพิธีกรรมและเป็นเครื่องดนตรีที่ผู้บรรเลงสามารถบรรเลงได้ดีและมีความผูกพันกับตนเอง สำหรับพิธีกรรมการเข้าทรงนี้จะมีเครื่องดนตรีหลักในการบรรเลงคือ "แคน" ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีมีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอีสานและชาวไทยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพราะแคนถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีการบรรเลงอย่างกว้างขวาง และถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีการบรรเลงสืบทอดแบบอย่างเข้มแข็งและเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชียที่เคยเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านวัฒนธรรม
ดนตรีในพิธีกรรมแกลมอ หรือรำผีฟ้าของชาวทุ่งไชยที่ใช้บรรเลงในพิธีคือ แคนนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเล่นแกลมอรำผีฟ้า และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเจ้าบ้านผู้ที่จะเล่นแกลมอหรือผีฟ้า จะต้องไปหาหมอแคนที่บ้านเพื่อที่จะยกดอกไม้ 1 คู่ พร้อมเทียน 1 คู่ ให้กับหมอแคนเพื่อที่จะให้ไปบรรเลงในงานของตน โดยหัวหน้าคณะแกลมอหรือผีฟ้าจะเชิญผีฟ้าลงมาเข้าทรง (เทียม) เพื่อไหว้และถวายเครื่องสังเวย เป็นการฉลองบทเพลงที่ใช้บรรเลงเพลงประกอบในพิธีรำแกลมอ หรือผีฟ้า บ้านบ้านทุ่งไชย ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ นั้นที่นิยมมีอยู่ 3 เพลง (ลาย) คือ ลายสร้อยน้อย ลายล่องใหญ่ และลายทางส่วย ส่วนมากรูปแบบของจังหวะในแต่ละเพลงมีหลายรูปแบบ และมีทำนองซ้ำกันไปมา ปัจจุบันดนตรีประกอบจากความเชื่อเรื่องผี มาควบคุมสมาชิกในสังคม จัดระเบียบแบบแผนทางสังคมให้เกิดความสงบและอยู่ร่วมกันตามแบบวิถีชาวบ้านอย่างมีความสุข ซึ่งคณะแกลมอ ผีฟ้าชุมชนทุ่งไชยยังคงรักษาวัฒนธรรมการเล่นแกลมอ รำผีฟ้า ดนตรี และขั้นตอนในพิธีไว้อย่างมั่นคงครบถ้วนสมบูรณ์
เครื่องดนตรีอีกอย่างที่มักพบในพิธีแกลมอ รำผีฟ้า ของชาวบ้านทุ่งไชย คือ ฉิ่ง การที่จะประกอบพิธีได้นั้นเจ้าของบ้านที่จะทำพิธีต้องนำดอกไม้ 1 คู่ เทียน 1 คู่ ไปเชิญหมอฉิ่งเพื่อมาประกอบพิธีที่บ้านของตน เมื่อมาถึงบ้านเจ้างานจะต้องยกเครื่องเซ่นไว้บวงสรวงเครื่องดนตรีให้กับทั้งหมอฉิ่งและหมอแคน เพื่อที่จะเซ่นไหว้บวงสรวงครูบาอาจารย์ของตนเองก่อนจะเริ่มพิธี โดยทำนองของการตีฉิ่งนั้นจะไม่มีทำนองตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับทำนองและจังหวะของการเป่าแคน
นอกจากนี้ โทน หรือกลองโทน เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวกูยใช้บรรเลงเป็นเครื่องประกอบจังหวะของการบรรเลงประกอบพิธีกรรม เป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ให้การบรรเลงมีความสมบูรณ์ตามบทเพลงและทำให้เกิดอารมณ์ที่มีความสนุกสนานและถือเป็นเครื่องกำกับจังหวะหน้าทับของบทเพลงที่บรรเลงโทนที่ชาวกูยบรรเลงประกอบพิธีกรรมนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกลอง
กันตรึมของชาวไทยเชื้อสายเขมร กล่าวคือมีความคล้ายคลึงทั้งรูปร่าง วัสดุ และเสียงที่เกิดจากการตีโทน เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่ทำด้วยไม้ ขึงหน้าด้วยหนังสัตว์ เจาะกลวงร้อยด้วยเชือกขึงกับหนังหน้ากลองซึ่งปัจจุบันได้ประยุกต์โดยการนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นคือผ้าใบมาขึงแทนหนังสัตว์ เนื่องจากมีความทนทานสามารถหาได้ง่ายมีเสียงที่ค่อนข้างหนักแน่น ราคาไม่แพงและรักษาง่าย ดังนั้นจึงถือได้ว่าการบรรเลงโทนจึงสามารถบรรเลงเข้ากับแคนได้เป็นอย่างดี ในบางครั้งชาวทุ่งไชย ก็จะนำโทนไปใช้การเซิ้งบั้งไฟโดยตีเป็นจังหวะให้ได้ทำนองโดยตีโทนสลับกันกับฆ้อง เพื่อส่งจังหวะให้ผู้ร้องกาพย์เซิ้งบั้งไฟให้ไพเราะสนุกสนานยิ่งขึ้น
การบรรเลงดนตรีในพิธีการเข้าทรงของชาวกูย จะมีการบูชาครูหรือการไหว้ครู ซึ่งถือเป็นประเพณีความเชื่อที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวกูยจะให้ความสำคัญกับการไหว้ครูเป็นอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและถือเป็นการเคารพบูชาครูก่อนการบรรเลงทุกครั้ง เครื่องบูชาครูสำหรับวงดนตรีมีดังต่อไปนี้ ธูป เทียน เงินกำนัล เหล้าขาว ไข่ต้ม
การเซิ้งบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีที่ชุมชน ชาวอีสานสืบทอดกันมาพร้อมกับประเพณีการจุดบั้งไฟ คือก่อนที่จะทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายพญาแถนบนสวรรค์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันออกเซิ้ง (คือ การร้องหรือจ่ายกาพย์ประกอบการฟ้อน) ไปรอบ ๆ หมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เพื่อบอกบุญขอรับไทยทานเพื่อเป็นการหาปัจจัยซื้อดินประสิวมาทำบั้ง อีกส่วนหนึ่งก็จะทำการถวายพระภิกษุสงฆ์ และจุดบั้งไฟในพิธีขอฝนต่อไป
เนื้อหากาพย์เซิ้งของแต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะเป็นการอ้อนวอนพญาแถนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลฝนให้ตกตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังกล่าวถึงตำนานการเกิดบุญบั้งไฟ ในชุมชนทุ่งไชยส่วนใหญ่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนและนิทานพื้นถิ่น ความเป็นมาของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาที่เน้นความขบขัน มีการสอดแทรกมุขตลกและกล่าวหยอกล้อผู้ร่วมเหตุการณ์เป็นระยะ เพื่อความสนุกสนาน
ชาวบ้านทุ่งไชยยังมีการละเล่นตะไลยักษ์ ถือว่าเป็นชุมชนเดียวในภาคอีสานที่พยายามเล่นการจุดบั้งตะไลยักษ์เพื่อถวายขึ้นท้องฟ้าแด่พญาแถน เพื่อเป็นการขอฝนตกต้องตามโดยทำมาเป็นเวลา 15 ปีชาวบ้านจะมีความชำนาญในการทำบั้งตะไลยักษ์อย่างมาก โดยชาวบ้านจะทำบั้งตะไลยักษ์ไม่ขึ้นสูงเกินไป เพราะมีแนวคิดว่า สามารถที่จะควบคุมให้บั้งตะไลให้ตกลงมาในจุดที่กำหนดไว้ได้ อีกทั้งทำให้มีความปลอดภัยสูงกว่าบั้งไฟหางยาว
ลักษณะของบั้งตะไลยักษ์ของบ้านทุ่งไชยจะมีลักษณะที่เป็นวงล้อมรอบเป็นวงกลมด้วยไม้ไผ่ บั้งไฟบรรจุที่ขวางใส่ไว้ตรงกลาง ก่อนที่จะประดับตกแต่งอย่างสวยงามตามประเพณีก่อนที่จะนำไปจุด และการเล่นตะไลยักษ์ของชาวกูยบ้านทุ่งไชยจะมีการเล่นในประมาณวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งชาวบ้านแต่ละในชุมชนจะช่วยกันสร้างบั้งตะไลยักษ์ขึ้นและนำไปจุดที่ ณ ลานจุดบั้งไฟ การละเล่นดังกล่าวนี้ปัจจุบันได้รับความสนใจทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่จนการเล่นบั้งตะไลยักษ์ของชาวกูยบ้านทุ่งไชยได้กลายเป็นประเพณีแห่งเดียวในภาคอีสานที่มีการทำบั้งตะไลที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น การเล่นตะไลยักษ์ของชาวทุ่งไชยจึงเป็นการนำเสนอทั้งประเพณีและการละเล่นของตนเองให้ยิ่งใหญ่และได้รับความสนใจจากผู้คนเพื่อเป็นการเผยแพร่วิถีชีวิตของความเป็นชาวกูย
ศิราพร ณ ถลาง (2539) ได้กล่าวว่า คนไทแต่ละกลุ่มล้วนมีตำนานการสร้างโลกต่าง ๆ กัน เช่น ไทลื้อเรียกผู้สร้างโลกว่า "ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี" ทางล้านนาเรียกว่า "ปู่สองศรียาสองไส้ หรือปู่แถนย่าแถน" ไทยขาวเรียกว่า "ย่าบม ย่าบาย" เป็นเรื่องราวของการอธิบายกำเนิดโลกและจักรวาลมีอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อของคนไท งานวิจัยชิ้นนี้ผู้วิจัยได้ แยกประเภทตำนานสร้างโลกของคนไทเป็น 3 แบบเรื่องคือ แบบเรื่องประเภทปู่สังกะสาย่าสังกะสี สร้างโลกแบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า และแบบเรื่องประเภทเทวดาลงมากินง้วนดิน
ความเชื่อเกี่ยวกับ "ปู่สังกะสาย่าสังกะสี" สรุปเนื้อหาพอสังเขปได้ว่า ก่อนฟ้าดินจะเกิดบนพื้นพิภพนี้มีเพียงแผ่นดินอันโล่งเตียนและทะเลอันเวิ้งว้างว่างเปล่า ยังมิได้มีมนุษย์ สัตว์และพฤกษชาติ ไม่มีสรรพเสียงใด ๆ ไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว และแสงสีต่าง ๆ ทุกแห่งเงียบสงัดและมืดสลัว เพื่อที่จะทำให้โลกมีพลังชีวิตใหม่และคึกคักเบิกบาน จอมแถนฟ้าจึงสั่งให้ปู่สังกะสาและย่าสังกะสีสองสามีภรรยาผู้เป็นแถนฟ้านำน้ำเต้าวิเศษลงมายังพื้นโลก เพื่อสร้างมนุษย์และสรรพสิ่งขึ้น ปู่สังกะสาและย่าสังกะสีลงมาถึงพื้นโลกแล้ว ก็ทุบน้ำเต้าลูกนั้นแตกออกและเอาเม็ดน้ำเต้าวิเศษหว่านขึ้นไปบนแผ่นฟ้าและหว่านไปทั่วแผ่นดิน ทำให้ท้องฟ้าเดียรดาษไปด้วยดวงดาว ดวงตะวัน ดวงจันทร์ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่ม ดอกไม้บานสะพรั่ง ผลไม้ลูกไม้ส่งกลิ่นหอมหวน แม่น้ำภูเขา และทิวทัศน์สวยงามจับตา มวลหมู่พฤกษชาติเจริญงอกงาม แต่เวลานั้นโลกไม่มีมนุษย์และสัตว์ ดังนั้นแถนฟ้าทั้งสองจึงใช้เวลา 100 ปี มาสร้างมนุษย์และสัตว์นานาชนิดขึ้น โดยปู่สังกะสาปั้นมนุษย์ผู้ชาย ย่าปั้นมนุษย์ผู้หญิง เมื่อปั้นเสร็จก็ได้ให้ชีวิตวิญญาณและพลังแก่พวกมัน ให้พวกมันจับคู่สามีภรรยากัน และตั้งชื่อให้ว่า "มนุษย์" ตลอดจนได้รับความคุ้มครองและคำแนะนำสั่งสอนจากปู่สังกะสาและย่าสังกะสี ในการเรียนรู้การใช้ภาษาพูด การใช้ความคิด การใช้แรงงาน การหาอาหาร การดำรงชีวิต และการสืบพันธุ์อยู่ในโลก ต่อจากนั้นก็ใช้ดินเหนียวปั้นรูปสัตว์สี่เท้าและสัตว์ปีกนานาชนิด ทำให้โลกที่เงียบเหงากลายเป็นโลกที่คึกคักมีชีวิตชีวานับแต่นั้นเป็นต้นมา (สุชาติ ภูมิบริรักษ์, 2535: 3–5)
ส่วนนิทานพื้นบ้านของชาวกูยชุมชนทุ่งไชยจะเชื่อมโยงกับทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะการนำเอานิทานทางพุทธศาสนามาเล่าใหม่ เช่น ชาวบ้านทุ่งไชยจะถ่ายทอดด้วยการแต่งบทสรภัญญะ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสรภัญญะที่จะร้องกันในช่วงของก่อนวันออกพรรษาของทุกปี เช่น เรื่องลีลาวดี
"จะได้กล่าวในเรื่องราวลีลาวดี อมตะรักนี้มีมาแต่นมนาน
ลูกเศรษฐีรักกับคนจันทาน แต่สมัยพุทธกาลตามนิทานที่เล่ามา
ประวัติศาสตร์สอนรักผูกพัน รักมาถูกกีดกั้นหั่นแหลกให้แยกลา
โอ้อกเอยโอ้ว่าเรวัตตะ หนีไปบวชเป็นพระสละตนให้พ้นกรรม
แต่ฝ่ายหญิงยังได้ทิ้งสมบัติ บวชเป็นชีหนีวัดตัดพ่อแม่ออกติดตาม
จะว่าเวรหรือว่าเป็นคู่กรรม ถึงได้มาต้อยต่ำช้ำจริงทั้งหญิงชาย
สิ้นทางนางลีลาวดี ได้ติดตามหลวงพี่จนล้มป่วยจนตาย
โอ้ชีวิตต้องวกวนเวียนว่าย ก่อนจะสิ้นใจตาย…เอ่ย…เอย"
(ลำ) บัดนี้ มาจักกล่าวถึงลีลาวดีน้อย กำลังสวมบทโศก โลกคือหน่วยลูกกลิ้ง บ่ขาวแจ้งกระจ่างตา คิดขึ้นมาน้ำตาไหลอังล้นได้ทนขืนขมใจ เรวัตตะเพิ่นได้ไปไลวาง ปล่อยให้นางได้ทนกลั้น…หลวงพี่เอย…บ่คิดเห็นคำที่เฮ้าเว่าสัญญากันกับหลวงพี่ บัดนางบวชเป็นชีหนีตามมาฮอดแล้วผัดเป็นแก้วหน่วยบ่คุณ โลกนี้หนอผัดส่างมีตั้งแต่วุ่นที่นี้วุ่นวายนักเสียแฮงตามหารักแล่นบ่หันบ่ทันอ้าย ลีลาวดี คิดขึ้นมาพออยากเอาคอขัดไม้ ให้มันตายสิตายส่วง...หลวงพี่เอยจักว่าหลอกหรือลวง ให้นางหอบห่อผ้า ผัดมาพ้อตั้งแต่ฮอย…ตั้งแต่ฮอย…หลวงพี่เอย
ชาวบ้านทุ่งไชยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับตำนาน คือ ตำนานปู่สังกะสาย่าสังกะสี ซึ่งเป็นผู้นำชาวบ้านส่วนหนึ่งไปตั้งชุมชนใหม่ทางทิศตะวันตกของบ้านทุ่งไชย ซึ่งห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันคือบ้านหนองมะฮาด หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งไชย โดยเป็นผู้จับจองที่ดินก่อนโดยเลือกเอาที่ใกล้หนองน้ำ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนทุ่งไชยพิทยารัชมังคลาภิเษก เสาร์ ศรีแย้ม (2561: สัมภาษณ์) ให้ข้อมูลว่า "ปู่สังกะสาย่าสังกะสี มีตัวตนจริงเมื่อเสียชีวิตได้มีการตั้งศพบำเพ็ญกุศล เมื่อเผาศพท่านเสร็จชาวบ้านได้นำกระดูกฝังไว้บริเวณบ้านของท่านจนมีต้นไฮ ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงเรียนทุ่งไชยพิทยา รัชมังคลาภิเษก" ชาวบ้านยังคงทำหน้าที่ในการสืบสานตำนานพื้นบ้านของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น เหมือนกับการเซ่นไหว้ศาลปู่ตา ศาลพญานาค หิ้งบูชาบรรพบุรุษ ดังนั้นการแสดงออกทางความเชื่อและการปฏิบัติในพิธีกรรมของตนเองถือว่าคนในชุมชนทุ่งไชยเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งเรื่องราวในอดีตของตนเอง เรื่องราวใดที่เกี่ยวข้องกับกับประวัติศาสตร์ของตน คนในชุมชนถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งนั้นจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหา
สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาในชุมชนทุ่งไชย มีสถานการณ์หรือแนวโน้มของการดำรงชีวิตดีพอสมควรเพราะชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถพัฒนาตนเองในระดับครอบครัว ชุมชน ตำบล จะเห็นได้จากคนในชุมชนได้ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายในส่วนของการพัฒนาอาชีพไดอย่างครบวงจร เช่น มีการสร้างหน่วยธุรกิจภายในตำบล เช่น โรงสีข้าว สถาบันการเงินชุมชน สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป ธนาคารข้าว และในปัจจุบันมีการสร้างกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้า กลุ่มทอเสื่อ กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มทำน้ำพริก กลุ่มดอกไม่จันทน์ กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มตะกร้าเถาวัลย์ กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มข้าวกล้องงอก ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันในแง่ของการพัฒนาในชุมชนถือว่ามีทิศทางที่สามารถพึ่งตนเองได้
การกลืนกลายทางวัฒนธรรม
อดีตชาวกูยบ้านทุ่งไชยยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีทางความเชื่ออย่างเคร่งครัดจนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันความสํานึกในการที่จะรักษาชาติพันธุ์กําลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยรวมเข้ามาพร้อมกับนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐและการแข่งขัน เพื่อเป็นผู้นําทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน เป็นผลให้กูยต้องเผชิญกับการกลืนทางวัฒนธรรม แปรสภาพเป็นสังคมที่ไร้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในภาพรวมสําหรับการปรับตัวเข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ในกระแสโลกาภิวัตถ์ของชาวกูยบ้านทุ่งไชยสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี แม้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในบางส่วนเปลี่ยนแปลงบ้างก็เป็นการปรับเพื่อความดํารงอยู่บนพื้นฐานที่สามารถสืบค้นต้นตอความเป็นมาของประเพณีและพิธีกรรม
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในชุมชนชาวกูยทุ่งไชย คือภาษาพูด ในสภาพสังคมชาวกูยทุ่งไชยในปัจจุบันนิยมพูดภาษาลาว (ภาษาถิ่นอีสาน) ในการสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังคงนิยมพูดภาษากูยสื่อสารกันในบางโอกาส ส่วนเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นไม่สามารถพูดภาษากูยได้เลย เนื่องจากพ่อแม่ได้ปลูกฝังให้พูดภาษาลาวตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุที่ชุมชนชาวกูยทุ่งไชยล้อมล้อมด้วยชุมชนที่สื่อสารกันด้วยภาษาลาวเป็นส่วนใหญ่ทำให้ภาษาพูดของชมชนชาวกูยเริ่มถูกกลืนจางหายไป
ภาษากูยจัดอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก การจัดตระกูลภาษาของ Grerard Diffloth (2005) ได้จัดแบ่งตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกใหม่ในปี ค.ศ. 2005 การจัดแบ่งใหม่นี้ Diffloth จัดให้ภาษากูยเป็นสมาชิกของภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญเขมรศูนย์กลาง กลุ่มเวียดกะตู (ในกลุ่มนี้มีภาษาที่ใกล้ชิด คือ เวียดนาม บะห์นา เขมร และเพียร์) (เมชฌ สอดส่องกฤษ, 2553)
ในรายงานการวิจัยเรื่อง “การกระจายของภาษากูยในประเทศไทย (The Distribution of Kuy Dialects in Thailand) ของวรรณา เทียนมี (2537) ได้กล่าวถึงบริเวณและพื้นที่ ที่มีผู้พูดภาษากวยอาศัยอยู่ในประเทศไทยไว้ค่อนข้างละเอียด เพราะมีการระบุชื่อและสถานที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านชาวกวยไว้ด้วย ทั้งนี้บริเวณถิ่นที่อยู่ของชาวกวยในประเทศไทย ปัจจุบันนั้น นอกเหนือไปจากพื้นที่ 6 จังหวัดที่ปรากฏในงานของประเสริฐ ศรีวิเศษ ที่กล่าวไปแล้ว ยังพบว่ามีชุมชนชาวกวยกระจายตัวอยู่ประปรายในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกอีกด้วย คือที่อำเภอเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 2 หมู่บ้าน และที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว อีกจำนวน 3 หมู่บ้าน ภาษากูยแยกย่อย แต่เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ (พระมหาปิยวัฒน์ พันธมาศ, 2548) ได้แก่ 1) กูยเยอ พูดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ในอำเภอไพรบึง จำนวน 5 หมู่บ้าน และในอำเภอราษีไศล จำนวน 4 หมู่บ้าน มีจำนวน 8,000 คน 2) กูยไม พูดกันใน 5 หมู่บ้านในอำเภอราศีไศล 9 หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงอยู่ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย อาศัยปะปนกันอยู่กับกลุ่มลาว และ3) กูยปรือใหญ่ พูดกันใน 5 หมู่บ้านของตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
การปรับตัวเข้ากับกระแสการพัฒนาในปัจจุบัน
ชุมชนชาวกูยยังคงยึดถือวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการใช้ภาษากูยในการสื่อสารและการดำรงชีวิตตามวิถีของชาวกูย โดยรับและประยุกต์กับวัฒนธรรมในยุคสมัยปัจจุบัน เช่น การสร้างอาคารบ้านเรือน การศึกษา การสาธารณสุข อาชีพ ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งชาวกูยสามารถดำรงชีวิตที่เกิดการผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงรักษาไว้ในวัฒนธรรมความเชื่อที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรษ ความเชื่อและประเพณีของชาวกูยมีหลากหลายความเชื่อที่ได้สืบทอดผ่านพิธีกรรมความเชื่อ ซึ่งในความเชื่อทั้งหลายเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรมที่ถือเป็นอาชีพของผู้คนส่วนใหญ่ (พนาสินธุ์ ศรีวิเศษ เชาว์ การวิชา และจันจิรา ศิรินนท์, 2561)
ชาวกูยบ้านทุ่งไชย มีอาชีพหลักมาแต่ดั้งเดิม คือการทำนา สมัยโบราณเป็นการทำนาที่ลงทุนไม่มาก ส่วนมากจะใช้แรงงานในครัวเรือนของตนเอง ชุมชนชาวกูยบ้านทุ่งไชยจะเริ่มหว่านข้าวประมาณปลาย เดือนเมษายน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปัจจุบันมีการลงทุนมากขึ้น กล่าวคือ มีการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น การทำนาปัจจุบันถึงแม้ว่าจะได้ผลผลิตมาก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายมากเช่นกัน
ในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่กำลังพัฒนานั้น ชาวกูยบ้านทุ่งไชยได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือนาแปลงใหญ่โดยการสนับสนุนจากทางจังหวัด ทำให้ลดปริมาณการใช้สารเคมีในนาข้าว และยังลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยในนาข้าวอีกด้วย ทำให้มีการร่วมกลุ่มวิสาหกิจต่าง ๆ ในชุมชนเกิดขึ้นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพสู่ท้องตลาด ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
คนในชุมชนทุ่งไชยสามารถผลักดันอาชีพของตนเองให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับการทอผ้าเพื่อเป็นสินค้าโอทอป คือ การทอเสื้อแส่วและผ้าไหมลายลูกแก้วที่เป็นอัตลักษณ์และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งไชย ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง
ชาวกูยบ้านทุ่งไชยได้มีการรวมกลุ่มทอผ้าลายลูกแก้วในชุมชน การรวมกลุ่มของสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านทุ่งไชย มีกระบวนการเริ่มตั้งแต่การตัดจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่ชาวบ้านทอขึ้นเองโดยทอเป็นลายลูกแก้วแล้วแต่ลูกค้าว่าชอบลายเล็กหรือลายใหญ่หรือภาษาถิ่นบ้านทุ่งไชยเรียกว่า “ผ้าเหยียบ” เมื่อทอได้ขนาดที่ต้องการแล้ว จะนำผ้ามาตัดเป็นรูปเสื้อแขนยาวตามขนาดที่ต้องการเย็บด้วยมือสีที่ใช้คือสีดำจากการย้อมมะเกลือเท่านั้นการย้อมสีจากมะเกลือใช้มะเกลือที่แก่จัด โขลกให้ละเอียดย้อมหลาย ๆ ครั้งจนดำสนิทเป็นที่พอใจแล้วนำไปคลุกดินโคลนแล้วล้างออกให้สะอาด นำเสื้อไปนึ่งด้วยไอน้ำและอบสมุนไพรประเภทเครื่องหอมจะทำให้เสื้อหนาและนิ่ม ดำสนิท มันวาว มีกลิ่นหอมของสมุนไพรที่เป็นเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สามารถสัมผัสถึงความแตกต่างกับเสื้อที่ย้อมด้วยสีเคมีอย่างชัดเจน เมื่อผ่านกระบวนการย้อมสีแล้วจะนำไปแส่วหรือถักลวดลายตามต้องการด้วยเส้นด้ายที่เตรียมไว้ ซึ่งเป็นไหมที่ผ่านการควั่นมาแล้ว (2-3 เส้น) โดยจะถักเพื่อต่อแขนและขึ้นลายที่คอและสาบทั้งสองข้างตามด้วยชายด้านล่างของเสื้อซึ่งแต่เดิมเน้นลวดลายไขว้ แต่ปัจจุบันจะเป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นตามที่ผู้แส่วจะคิดสร้างสรรค์หรือตามที่ลูกค้าต้องการ แล้วเย็บด้ายปล่อยไว้เป็นการผูกแทนกระดุม (แต่เดิมจะนิยมมัดเงินก้อนเป็นกระดุม ซึ่งสามารถแสดงฐานะคนสวมใส่ได้เป็นอย่างดี)
ดังนั้นการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายในปัจจุบันเกี่ยวกับการทอผ้าถือว่าสามารถสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและนอกชุมชนได้อย่างเป็นอย่างดี จนปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันช่วยเหลือกันปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 30 คน และคนในชุมชนนิยมสวมใส่เสื้อแส่วในการรำผีฟ้า งานบุญบั้งไฟ งานร้องสรภัญญะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีเพื่อการท่องเที่ยว
ประเพณีพิธีกรรมสำคัญที่ของชาวกูย ได้ถือปฏิบัติตามฮีตคองอีสาน แต่ในปัจจุบันชาวกูยร่วมกันจัดประเพณีขึ้นมาอีกเพื่อสร้างประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง เช่น ปลาช่อนรสดี ข้าวจี่ยักษ์รสเด็ด ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งไชยร่วมกันจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ชาวบ้านในชุมชนเดินทางไปร่วมงานกัน เพื่อที่จะสืบสานประเพณีของตนเองให้กับลูกหลานในอนาคต
การจัดงานบุญประเพณี จะจัดขึ้นในเดือนสามที่องค์การบริการส่วนตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประเพณีปลาช่อนรสดีข้าวจี่รสเด็ดจะมีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพ และเผยแพร่จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองสอดคลองกับวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวตำบลทุ่งไชย ในส่วนของกิจกรรมนั้นประกอบไปด้วย การแข่งขันจับปลาช่อน แข่งขันกินปลาเผา–ข้าวจี่ใหญ่ การแข่งขันตำส้มตำลีลา การแสดงศิลปวัฒนธรรม แสง สี เสียง เล่าขานตำนานทุ่งธงชัยชนะ (ทุ่งไชย) ประเพณีดังกล่าวนี้ เป็นการสร้างขึ้นเพื่อความสามัคคีของคนในชุมชนทุ่งไชย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาช่อน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และที่น่าสนใจคือมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงผลเสียของการใช้สารเคมีในการทำนำ ดังนั้นจึงมีการส่งเสริมให้หันมาทำนาแบบระบบอินทรีย์เพื่อให้ระบบนิเวศภายในชุมชนได้ฟื้นตัวจากการทำนาแบบสารเคมี ทั้งยังปลาช่อนที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
Access Point |
---|
No results found. |